ARTICLES ON BUDDHISM

กรรมคืออะไร?

คัดลอกและตัดทอนมาจากหนังสือ
“กรรม – การให้ผล”

เรื่องของกรรมคืออะไร เป็นหลักที่จะต้องศึกษาในเบื้องต้นนี้เสียก่อน เพราะคนส่วนมากยังเข้าใจถึงเรื่องของกรรมไปในทางที่ผิด คือยังเข้าใจว่าเป็นเรื่องของความไม่ดีเสียทั้งหมด ถึงคราวเกิดความทุกข์ร้อนขึ้นมาก็มักจะบ่นกันว่า เป็นกรรมของเรา เห็นใครเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนก็บ่นว่า เป็นกรรมของเขา ครั้นถึงคราวที่เราเกิดความสุขสำราญขึ้นก็บ่นว่าเป็นบุญของเรา เห็นคนอื่นมีความสุขก็บ่นว่า เป็นบุญของเขา เลยชวนให้เข้าใจไปว่า กรรมเป็นเรื่องของความไม่ดี บุญเป็นเรื่องของความดี บางทีก็เติมเวรไปด้วย เป็นเวรกรรม หรือกรรมเวร กลับกันไปกลับกันมาอยู่อย่างนี้

คำว่า “กรรม” แปลตามศัพท์ว่า การกระทำ วิเคราะห์ศัพท์ว่า “กะระณัง กัมมัง” แปลว่า การกระทำคือกรรม ตามศัพท์แสดงให้เห็นว่า การกระทำนั้นแหละเป็นตัวกรรม โดยที่ท่านไม่จำกัดลงไปเลยว่า เป็นการกระทำดีหรือกระทำชั่ว กรรมจึงเป็นคำกลางๆ จะว่าเป็นเรื่องของความดีก็ไม่ได้ จะว่าเป็นเรื่องของความชั่วก็ไม่ได้

การกระทำที่ปรากฏออกมาได้ ก็ต้องอาศัยเจตนาที่เกิดขึ้นภายในจิตเป็นเหตุ พระพุทธองค์จึงตรัสต่อไปว่า

“เจตะนาหัง ภิกขะเว กัมมัง วะทามิ เจตะยิตวา กัมมัง กะโรติ กาเยนะ วาจายะ มะนะสา”

แปลว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนาคือตัวกรรม สัตว์ที่กระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจก็ดี ย่อมมีการปรุงแต่งคือนึกคิดก่อนแล้วจึงทำ ดังนี้

เจตนานั้นเป็นเจตสิกประเภทสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ย่อมเกิดขึ้นได้ภายในจิตทุกดวง ในทางปรมัตถ์นั้น ท่านแสดงว่า เมื่อเจตนาเกิดขึ้นภายในจิตที่เป็นอกุศล ก็เรียกว่า อกุศลกรรม ถ้าเจตนาเกิดขึ้นในจิตที่เป็นกุศล ก็เรียกว่า กุศลกรรม เมื่อเจตนาเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นเหตุให้เกิดการกระทำขึ้น การกระทำของคนเราก็มีเพียงสามทางเท่านั้น คือกระทำทางกาย ก็เรียกว่า กายกรรม กระทำทางวาจา ก็เรียกว่า วจีกรรม กระทำทางใจ ก็เรียกว่า มโนกรรม

ตามทางที่แสดงมานี้ชี้ให้เห็นแล้วว่า กรรมเป็นเพียงเหตุเท่านั้น แต่เหตุเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมมีผล เรื่องของกรรมจึงเป็นเรื่องของเหตุผล เรื่องของกรรมจึงเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะแสดงถึงเหตุกับผล เหตุเช่นใด ผลก็เช่นนั้น ดังบาลีพระพุทธวจนะว่า

“ยาทิสัง วะปะเต พีชัง ตาทิสัง ละภะเต ผะลัง

กัลยาณะการี กัลยาณัง ปาปะการี จะ ปาปะกัง”

แปลว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้กระทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้กระทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว

กฎแห่งกรรม ที่พระพุทธองค์ตรัสนี้ เป็นกฎสากลสาธารณะแก่สรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้าที่มีอยู่ในวัฏจักรนี้ เรื่องของกรรมนี้จึงมิได้จำกัด ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม เมื่อท่านกระทำกรรมดีแล้ว ท่านย่อมจะต้องได้รับผลดีทั้งนั้น และตรงกันข้ามถ้าท่านกระทำกรรมชั่วแล้ว ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม ท่านจะต้องได้รับผลแห่งการกระทำชั่วนั้นแน่นอนเช่นกัน ข้าพเจ้ายังชอบข้อเขียนของท่านสาธุชนชาวต่างประเทศผู้หนึ่ง คือ ดร.ดับบลิว.วาย. อีแวน เวนซ์ ท่านผู้นี้กล่าวถึงกรรมในพุทธศาสนาไว้ว่า

“พระพุทธศาสนาไม่เหมือนศาสนาเสมิติกทั้งสามคือ ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม พระพุทธศาสนาสอนว่า ความทุกข์ในโลกนั้นเป็น “กัมมิกะ” คือ เป็นผลของกรรมหรือการกระทำโดยตรง เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์เอง ไม่ใช่โดยการแซกแซงของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง”

ท่านผู้นี้เข้าใจในกฏของกรรมดีทีเดียว พระพุทธศาสนาถือว่าการกระทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี การกระทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว เหมือนบุคคลที่ปลูกผลไม้ในแผ่นดิน ปลูกผลอะไรลงไปก็ตาม ย่อมได้รับผลอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อปลูกมะม่วงลงไปจะกลายเป็นทุเรียนไม่ได้ ผลที่ได้รับจะต้องเป็นมะม่วง

ถ้าทุกคนเห็นกฎแห่งความจริงอย่างนี้แล้ว ท่านทั้งหลายโปรดคิดดูว่า จะมีใครสักกี่คนที่โง่กระทำกรรมชั่วลงไป เพราะการกระทำอย่างนั้นมันเป็นการลงโทษตัวเองอย่างเห็นได้ชัด เช่น ถ้าเราไปฆ่าคนอื่น สัตว์อื่น ก็คือการฆ่าตนของตนเองเท่านั้น เพราะผู้ฆ่านั้นจะต้องได้รับผลคือการถูกฆ่าตอบในภายหน้า การเบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่นให้เดือดร้อน ก็คือการเบียดเบียนตนเองให้เดือดร้อน เราไปสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ก็เท่ากับสร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเรา ดังนี้เป็นต้น

และก็ตรงกันข้าม เขาเหล่านั้นก็จะเข้าใจว่า การกระทำความดีแก่ผู้อื่นนั้น ก็คือการสร้างความดีให้ตน ไม่ใช่ว่าจะทำให้เราสูญเสียความดีไปเมื่อไร ความดีที่เรามีอยู่กลับจะมากขึ้นอีกหลายเท่าทวีคูณ การที่เราไม่ฆ่าสัตว์อื่น ก็คือการรักษาชีวิตของเรา การสร้างความสุขให้แก่ผู้อื่น ก็คือการสร้างความสุขให้แก่ตนเอง คิดว่าท่านผู้อ่านคงเข้าใจในความตอนนี้ดีขึ้น

ปัญหาเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ว่า ในเมื่อตามหลักของพุทธศาสนาสอนไว้ชัดเจนเช่นนี้ ทำไมคนไทยเราที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงยังกระทำกรรมชั่วกันอยู่ ทำไมจึงไม่กระทำกรรมดีกันให้มากขึ้น ข้อนี้ขอตอบว่า เพราะคนเราส่วนมากยังไม่เกิดปัญญา เมื่อปัญญาไม่เกิด ก็ไม่เห็นกฎแห่งกรรมตามหลักของพระพุทธศาสนาที่สอนไว้ ที่เรียกว่า “กัมมัสสกตาญาณ” เมื่อไม่เห็นอานิสงส์แห่งการกระทำกรรมดี ไม่เห็นโทษแห่งการกระทำกรรมชั่ว คนเราจะมุ่งหน้าประกอบกรรมดี และพยายามละเว้นกรรมชั่วนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้นการศึกษาว่า กรรมคืออะไร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงชีวิต ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพราะคนเราจะต้องประกอบกรรมอยู่เสมอเกือบทุกขณะ ถ้าไม่ทราบว่ากรรมคืออะไรเสียแล้ว การกระทำต่างๆ ที่ปรากฏออกมาทางกายก็ดี วาจาก็ดี ใจก็ดี จะบริสุทธิ์ไปไม่ได้ และอาจจะเป็นการสร้างทุกข์ให้แก่ตนเองเสียอีก ครั้นเมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นมาก็ไม่เข้าใจเหตุผลว่า ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากอะไรเป็นเหตุ เมื่อไม่เข้าใจก็เกิดการเพ่งโทษในสิ่งภายนอกออกไป เช่นโทษว่า สิ่งนั้น สิ่งนี้กระทำให้เราต้องประสบต่อความทุกข์ความเดือดร้อน เหมือนอย่างปัจจุบันเราส่วนมากก็โทษดวงดาวบนท้องฟ้า โทษผีสางเทวดา ซึ่งความจริงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มิใช่เป็นผู้กระทำให้เดือดร้อน ทั้งนี้มิใช่ว่า ข้าพเจ้าผู้เขียนไม่เชื่อในศาสตร์ทั้งหลายเหล่านี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีจริง แต่ยังมีสิ่งที่ลี้ลับลึกซึ้งไปกว่านี้อีก มีอิทธิพลเหนือกว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มากมายนัก

สิ่งที่มีอิทธิพลเหนือกว่าดวงดาว เหนือกว่าผีสางเทวดานั้นคืออะไร ท่านทั้งหลายก็คงเข้าใจแล้วคือ กฎแห่งกรรมนั่นเอง กฎแห่งกรรมนี้ใครๆก็ลบล้างไม่ได้ เหมือนรอยขีดลงแผ่นหิน ท่านผู้อ่านคงเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ถ้าเช่นนั้น บุคคลที่ประสบต่อความทุกข์ ความเดือดร้อนแล้ว ไปรดน้ำมนต์ ไปสะเดาะเคราะห์ก็ไม่สามารถถจะช่วยได้เลย ข้อนี้ ขอตอบว่า ช่วยได้ แต่ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจเสียก่อนว่าช่วยได้อย่างไร ในลักษณะไหน เดี๋ยวจะเข้าใจไปว่า ขัดกัน เพราะครั้งแรกก็ได้พูดแล้วว่า กฎของกรรมนั้น ใครๆก็ลบล้างกันไม่ได้ แต่ทำไมมาตอนนี้จึงพูดว่า การรดน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ ช่วยได้ ฟังดูแล้วคล้ายๆกับว่า เป็นการล้างบาปได้

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า คนโบราณนั้นท่านฉลาดสอนคน จนกระทั่งบางคนที่เราเข้าใจว่าเจริญแล้วในทางวุฒิปัญญา ก็ไม่อาจเข้าใจความมุ่งหมายของท่านได้ แล้วก็เลยกล่าวออกมาว่า เป็นการกระทำที่เหลวไหลไร้สาระ เป็นความงมงายอะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นการกล่าวที่ฉลาดน้อยไป ความจริงแล้วคนที่เป็นทุกข์เดือดร้อนไปรดน้ำมนต์นั้นเป็นการกระทำที่ดีเหลือเกิน เพราะอย่างน้อยที่สุดผู้นั้นก็ยังมีโอกาสได้เข้าวัด ได้พบพระ การที่เราเข้าวัดพบพระในยามที่เป็นทุกข์นั้นมีประโยชน์เหลือเกิน บางคนถึงกับยิ้มแย้มแจ่มใสออกมาได้ก็มีภายหลังจากรดน้ำมนต์แล้ว สะเดาะเคราะห์แล้ว

ที่ยิ้มแย้มแจ่มใสออกมาได้นั้น เพราะมีความรู้สึกสบายใจ เพราะถึงอย่างไรก็ตาม น้ำที่หลั่งรดบนศรีษะนั้น ก็เป็นน้ำพระ พุทธมนต์ ขณะรดน้ำมนต์จิตก็นึกถึงพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ การรระลึกถึงพระพุทธคุณนั้นจัดเป็นพุทธานุสติ ธรรมดาของจิตนั้นเมื่อคิดถึงเรื่องอย่างอื่นที่ไม่ดีก็ย่อมเป็นทุกข์ เกิดความเศร้าหมองขึ้น ไม่ผ่องใส ครั้นเมื่อได้ระลึกถึงพระรัตนตรัยจิตก็ผ่องใสขึ้นมาทันที เมื่อจิตผ่องใสดีแล้วความคิดก็ปลอดโปร่ง เห็นช่องทางที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆได้ ที่ร้ายก็กลายเป็นดีที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอำนาจของการกระทำจิตของตนเองให้ผ่องใสนั่นเอง การกระทำอย่างนี้จัดเป็นการกระทำกุศลกรรมทางใจ ทางกาย ทางวาจา เพราะใจระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เรายกมือไหว้ เปล่งวาจาสรรเสริญพระคุณเหล่านี้ เป็นการกระทำกุศลกรรมพร้อมทั้งไตรทวาร

เมื่อกระทำกรรมที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้น อกุศลกรรมอ่อนกำลังลง ความทุกข์ก็จางหายไป ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะพุทธคุณและการกระทำกรรมดีของตน แต่ถ้าไม่ปฏิบัติเช่นนี้แล้ว ถึงคราวเกิดความเดือดร้อนก็ไปหาสุรามารับประทานดับทุกข์ ไปเที่ยวดูมหรสพดับทุกข์ ไปเที่ยวหาหญิงมาบำเรอดับทุกข์ ไปเล่นการพนันดับทุกข์ ความทุกข์จะไม่มีวันจางหายไปเลย กลับจะทุกข์หนักยิ่งขึ้นอีกหลายเท่าทวีคูณ เพราะการกระทำอย่างนั้นเป็นการเพิ่มทุกข์ให้แก่ตน

ส่วนการสะเดาะเคราะห์นั้น ก็ทำนองเดียวกับการรดน้ำมนต์ คือเป็นการไปกระทำบุญหรือสร้างกุศลกรรมนั่นเอง แต่ท่านไม่ว่าไปทำบุญเพราะคนส่วนมากฟังดูแล้ว มีความรู้สึกว่าช่วยเหลืออะไรไม่ได้เลยทั้งยังเป็นการเสียอีก แต่พอบอกว่าสะเดาะเคราะห์ คนเราส่วนมากก็เกิดความเข้าใจว่า ทุกข์ทั้งมวลจะสิ้นสุดลงทันที เคราะห์นอก เคราะห์ในจะหายไปทันที เลยนิยมสะเดาะเคราะห์มากกว่าการทำบุญ ความจริงแล้วการสะเดาะเคราะห์ก็คือการไปทำบุญอันเป็นกุศลกรรมนั่นเอง ในพิธีสะเดาะเคราะห์นั้น ท่านทั้งหลายก็เห็นแล้วว่าจะต้องใช้อะไรหลายอย่าง รวมความแล้วก็คือ ไปถวายทานแก่พระสงฆ์นั่นเอง คนเราถ้าได้ทำบุญแล้วจิตใจย่อมมีความสุขสบายเป็นธรรมดา

ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั้น เมื่อยามใดจิตใจเราไม่สบาย เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญขึ้นมา ในยามนั้นเราไปทำบุญ ชำระจิตใจให้ผ่องใสความหม่นหมองใจก็จะหมดไปทันที นี้เป็นวิธีดับทุกข์อย่างง่ายๆ วิธีหนึ่งในหลายๆวิธีที่มีอยู่ในพุทธศาสนา

การรดน้ำมนต์หรือสะเดาะเคราะห์ จึงช่วยได้ในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วการกระทำเหล่านี้เกิดมาจากตนเองทั้งนั้น โดยอาศัยพระพุทธคุณเป็นปัจจัยภายนอกเท่านั้น

ถ้าเราศึกษาเรื่องชาดกต่างๆ ซึ่งมีถึง ๕๕๐ เรื่อง อันเป็นเรื่องที่ประมวลถึงชีวิตแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏมาเป็นเวลาช้านาน ในชาดกนั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงกฎของกรรมเด่นชัดมาก เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่สิ้นสุดของกรรม ผู้ใดกระทำกรรมชั่วก็ต้องได้รับผลแห่งกรรมชั่วนั้น ผู้ใดกระทำกรรมดีก็ต้องได้รับผลแห่งกรรมดีนั้น บางชาติพระพุทธเจ้าของเรา ในสมัยที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ต้องไปเกิดเป็นสัตว์ เดียรฉานก็มี บางชาติเกิดเป็นกษัตริย์ บางชาติเกิดเป็นปุโรหิตอะไรเหล่านี้จนนับชาติไม่ถ้วน

ที่พระพุทธองค์ เทศนาถึงเรื่องชาดกนั้น เป็นการหยิบยกเอาเหตุการณ์ในอดีตชาติ มาแสดงเปรียบเทียบกับปัจจุบันชาติ โดยชี้ให้เห็นว่า คนเราในอดีตกับปัจจุบันนั้นเคยมีกรรมคือการกระทำ ร่วมกันมา คนที่เคยฆ่ากันมาในอดีต ปัจจุบันเขาเหล่านั้นก็ต้องเกิดมาฆ่ากันไปอย่างนี้อีก ถ้าในอดีตเคยเกื้อกูลกันมา ในปัจจุบันก็เกื้อกูลกันต่อไป ความสัมพันธ์กันอย่างนี้อยู่ในสังสารวัฏ คนที่เคยเป็นศตรูกันมาในอดีต ปัจจุบันเราก็จะสังเกตุจากการพบกันครั้งแรก ใจของเราจะเกิดความรู้สึกไม่ชอบทันที ทั้งๆที่ยังไม่เคยวิสาสะกันเลย ที่เราเรียกกันว่า ศรไม่กินกัน

ส่วนบางคนพอเห็นหน้ากันเท่านั้น รู้สึกรัก รู้สึกพอใจอยากคบหาสมาคมด้วย บางคนถึงกับทนอยู่ไม่ได้ เหมือนชายหนุ่มกับหญิงสาวเป็นต้นบางทีไม่เคยเห็นหน้าเลย ได้ยินแต่เสียงเท่านั้นก็รู้สึกว่าพอใจเสียแล้ว

มีบางท่านไม่เข้าใจในกฎแห่งกรรม จึงเห็นผิดคิดไปว่า เรื่องชาดกนั้นเป็นนิทานปรำปราไม่ไช่พระพุทธพจน์ ทั้งนี้เพราะใช้การค้นเดาเอา จริงอยู่ชาดกนั้นเป็นนิทาน แต่คำว่านิทานนี้ไม่ใช่หมายถึงนิทานที่เล่ากันมาอย่างที่เราเข้าใจกัน นิทานในชาดกของพระพุทธศาสนานี้ หมายถึงเหตุในอดีตที่มีความสัมพันธ์กับผลที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ต่างหาก เช่นในตอนท้ายของชาดกแต่ละเรื่องจะมีการประมวลเนื้อเรื่อง ที่เรียกว่า ประมวลชาดก โดยชี้ให้เห็นชีวิตของแต่ละคนในปัจจุบันว่า อดีตนั้นเป็นอะไรมาก่อน ทำไมจึงมาเกิดเป็นเรื่องในปัจจุบันอย่างนี้

ดังเช่นในสมัยที่พระพุทธองค์ ถูกพระเทวทัตคิดลอบปลงพระชนม์ด้วยการปล่อยช้างนาฬาคีรีเพื่อให้ชนพระพุทธองค์ระหว่างเสด็จออกบิณฑบาตตอนเช้า ในขณะที่ช้างนาฬาคีรีได้วิ่งเข้ามาจะชนพระพุทธองค์นั้น ท่านพระอานนท์ซึ่งเป็นพุทธ อุปัฏฐาก ได้สละชีวิตของตนวิ่งเข้าขวางหน้า รับช้างนาฬาคีรี หวังเพื่อสละชีวิตของท่าน ปกป้องชีวิตของพระพุทธองค์เอาไว้เรื่องที่เกิดในปัจจุบันเช่นนี้พระพุทธองค์ก็เทศนาให้ทราบว่า อานนท์นั้นมิใช่จะสละชีวิตเพื่อเราตถาคตในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น แม้แต่ในอดีตก็เคยเสียสละมาแล้ว เช่น ในชาติที่เกิดเป็นหงส์เป็นต้น

คนปฏิเสธเรื่องชาดกว่าไม่จริง ก็คือปฏิเสธกฏของกรรมนั่นเองว่าไม่จริง และคนเหล่านี้แหละย่อมปฏิเสธนรก ปฏิเสธสวรรค์ไปด้วย ทั้งยังเป็นการปฏิเสธกฎของสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิดด้วย นับว่าเป็นการเข้าใจพระพุทธศาสนาผิดไปอย่างมากทีเดียว เพราะเรื่องของชาดกนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสเทศนาด้วยอำนาจพระสัพพัญญุตญาณด้วยพระสัมาสัมโพธิญาณ ด้วยปุพเพนิวาสานุสติญาณ คนสามัญไม่สามารถจะทราบเรื่องในอดีตได้เลย

เรื่องชาดกในพระพุทธศาสนาทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง คติธรรมต่างๆ เป็นอันมากเราจะได้จากชาดก

ได้กล่าวให้ท่านทั้งหลายทราบในตอนต้นแล้วว่า กรรมนั้นเป็นเหตุและอาจเป็นได้ทั้งเหตุที่ดีและไม่ดี ถ้าเหตุดีเรียกว่า กุศลกรรม ถ้าเหตุไม่ดีเรียกว่า อกุศลกรรม

คำว่า เหตุอันเป็นตัวกรรมที่แท้ในที่นี้ ท่านหมายถึงสภาวะของนามธรรม คือหมายถึงเจตนาที่เกิดขึ้นภายในจิต เจตนานี้เป็นเจตสิกประเภทสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ย่อมเกิดได้ในจิตทั่วไปทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล เมื่อเจตนาเกิดขึ้นในจิตแล้ว เป็นเหตุให้เกิดการกระทำทางกายออกไปก็เรียกว่า กายกรรม ถ้าเกิดการกระทำทางวาจา ก็เรียกว่าวจีกรรม ถ้าเกิดภายในจิต ก็เรียกว่า มโนกรรม ที่เกิดของกรรมจึงมีเพียงสามแห่งเท่านั้น

เมื่อกรรมเกิดขึ้นเป็นเหตุ ก็ย่อมจะมีผลตอบแทนดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในธรรมปริยายสูตร อังคุตรนิกาย ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เขากระทำกรรมใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม เขาย่อมเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น ๆ”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้หยาบช้า เป็นผู้ฆ่าสัตว์ มีมือชุ่มด้วยโลหิต ตั้งอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ที่มีชีวิตทั้งปวง บุคคลนั้นย่อมกระเสือกกระสนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เมื่อกายกรรมของเขาคด วจีกรรมของเขาก็คด มโนกรรมของเขาก็คด คติของเขาก็คด อุบัติของเขาก็คด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคติสองอย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งคือ นรกอันมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดดิรัจฉาน อันมีปกติกระเสือกกระสน ของบุคคลผู้มีคติคต ผู้มีอุบัติคต”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำเนิดดิรัจฉานอันมีปกติกระเสือกกระสนนั้นเป็นไฉน คือ งู แมลงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้อื่นๆที่เห็นมนุษย์แล้วย่อมกระเสือกกระสน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การอุบัติของสัตว์ย่อมมีเพราะกรรมอันมีแล้ว ด้วยประการดังนี้แล คือเขาย่อมอุบัติด้วยกรรมที่เขากระทำ ผัสสะอันเป็นวิบาก ย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรมด้วยประการฉะนี้”

“อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ลักทรัพย์ เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม เป็นผู้พูดเท็จ เป็นผู้พูดส่อเสียด เป็นผู้พูดคำหยาบ เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้อยากได้ของผู้อื่น เป็นผู้คิดปองร้ายผู้อื่น เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดี ทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ไม่มีในโลกนี้ ก็ต้องประสบต่อผลแห่งกรรมเช่นกัน”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศัสตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง บุคคลเหล่านั้นย่อมไม่กระเสือกกระสนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เมื่อกายกรรมของเขาตรง วจีกรรมของเขาก็ตรง มโนกรรมของเขาก็ตรง คติของเขาก็ตรง การอุบัติของเขาก็ตรง

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวคติสองอย่าง อย่างใดอย่าง หนึ่งของบุคคลผู้มีคติอันตรง ผู้มีการอุบัติอันตรง คือสัตว์ทั้งหลายผู้มีความสุขโดยส่วนเดียวหรือเกิดในสกุลที่สูงๆ คือสกุลกษัตริย์มหาศาลอันมั่นคง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินทองมาก มีเครื่องอุปกรณ์แห่งทรัพย์ เครื่องเปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย การอุบัติของสัตว์ย่อมมี เพราะกรรมอันมีแล้วด้วยประการดังนี้แล คือ สัตว์นั้นย่อมอุบัติด้วยกรรมที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากทั้งหลายย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรม ด้วยประการฉะนี้”

“อนึ่งบุคคลบางคนในโลกนี้ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ ละการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่อยากได้ของผู้อื่น เป็นผู้มีจิตไม่คิดปองร้ายผู้อื่น เป็นผู้มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดี ทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นโอปปาติกะมีอยู่ สมณ พราหมณ์ ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติขอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง แล้วสอนให้ผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ในโลกนี้ ดังนี้ เขาก็ย่อมได้คติที่ดีเช่นกัน”

พระพุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นแจ่มชัดแล้วว่า บุคคลทำกรรมเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงเหตุและผลตรงกัน เหมือนกับบุคคลผู้หว่านพืชลงไปในดิน หว่านพืชอะไรลงไปก็ย่อมจะได้รับผลเป็นพืชชนิดนั้น กรรมที่เกิดขึ้นทางไตรทวารนี้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนนั้นย่อมไม่มี

ปัจจุบันนี้คนเราที่เกิดมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ถ้าทุกคนมีความเข้าใจในกฎของกรรม และเชื่อในกฎของกรรมแล้ว โลกนี้จะน่าอยู่มิใช่น้อย ความเดือดร้อนจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะทุกคนเห็นเหตุและผลตรงกันใครเล่าจะกล้าสร้างเหตุคือ กรรมที่ไม่ดีลงไปโดยที่เขาผู้สร้างจะต้องได้รับผลแห่งกรรมชั่วนั้นอย่างแสนสาหัส ทุกคนจะเกิดความเกรงกลัวเกิดความละอายต่อความชั่ว และงดเว้นจากการกระทำกรรมชั่วอย่างเด็ดขาด ที่ปัจจุบันบางท่านยังหมกมุ่นอยู่กับการกระทำกรรมชั่วนั้น เป็นเพราะเขาไม่เห็นกฎของกรรมดังกล่าวมานี้ จึงเป็นบุคคลที่น่าสงสารมาก เพราะเขาจะต้องชดใช้ผลแห่งกรรมนั้นต่อไปอีกนานแสนนาน คนที่เบียดเบียนสัตว์อื่น ฆ่าสัตว์อื่น อย่างไม่ปราณี หรือข่มเหงคะเนงร้ายผู้อ่อนแอกว่า ผู้มีกำลังน้อยกว่า เขาจะต้องรับผลแห่งการกระทำนี้ มากกว่าที่กระทำแก่ผู้อื่น

ตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น คนที่กระทำกรรมชั่วลงไปครั้งหนึ่ง จะต้องได้รับผลแห่งการกระทำกรรมชั่ว ถึง ๕๐๐ ครั้ง ดังที่ท่านสาธุชนทั้งหลายเคยได้ยินว่า ฆ่าสัตว์ตายลงไปครั้งหนึ่ง เราจะต้องชดใช้กรรมด้วยการถูกเขาฆ่าถึง ๕๐๐ ชาติดังนี้เป็นต้น.....

คัดลอกและตัดทอนมาจากหนังสือ
“กรรม – การให้ผล”
ของ
พระเทพกิตติปัญญาคุณ
(กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ)

  •  

เวรคืออะไร

คัดลอกและตัดทอนมาจากหนังสือ
“กรรม – การให้ผล”

ผลแห่งการกระทำกรรมชั่วลงไป ท่านเรียกว่า “เวร” กรรมเป็นเหตุ เวรเป็นผล คำว่า “เวร” ตามหลักของภาษาไทยนั้น มีความหมายออกไปหลายนัยด้วยกัน เช่น

เวร หมายถึง ความปองร้าย ความพยาบาท

เวร หมายถึง คราวหรือรอบ หรือการผลัดกันเป็นคราวๆ เช่น การผลัดเปลี่ยนเวรกัน เป็นต้น

หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงบาป ดังคำที่เราใช้กันว่า ก่อกรรมทำเวร ก่อกรรม ก็คือ การสร้างกรรม ทำกรรมทำเวร ก็คือการทำบาป

ดังเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า

“ดูกรคฤหบดี อุบาสกไม่ละภัยเวร ๕ ประการ เราเรียกว่าผู้ทุศีลและเขาย่อมเข้าถึงนรกด้วย ภัย เวร ๕ ประการเป็นไฉน คือการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรคฤหบดี อุบาสกไม่ละภัยเวร ๕ ประการนี้แล เราเรียกว่า เป็นผู้ทุศีล และย่อมเข้าถึงนรกด้วย”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ละภัยเวร ๕ ประการนี้แล เราเรียกว่า เป็นผู้มีศีล และเขาย่อมเข้าถึงสุคติด้วย”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวร ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ ย่อมเสวยทุกข์และโทมนัสทางใจ เพราะว่าฆ่าสัตว์ ส่วนอุบาสกใด เป็นผู้ยกเว้นจากปาณาติบาต ย่อมไม่ประสบภัยเวรนั้น ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ ย่อมไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสทางใจ ภัยเวรของอุบาสกผู้งดเว้นจากปาณาติบาตย่อมสงบระงับด้วยประการฉะนี้" แล้วตรัสเป็นคาถาว่า

โย ปาณะมะติปาเตติ
มุสาวาทัญจะ ภาสะติ

โลเก อะทินนัง อาทิยะติ
ปะระทารัญจะ คัจฉะติ

สุราเมระยะปานัญจะ
โย นะโร อนุยุญชะติ

อัปปะหายะ ปัญจะ เวรานิ
ทุสสีโล อิติ วุจจะติ

กายัสสะ เทา ทุปปัญโญ
นิระยัง โส ปะปัชชะติ

โยปาณัง นาติปาเตติ
มุสาวาทัง นะ ภาสะติ

โลเก อะทินนัง นาทิยะติ
ปะระทารัง นะ คัจฉะติ

สุราเมระยะปานัญจะ
โย นะโร นานุยุญชะติ

ปะหายะ ปัญจะ เวรานิ
สีละวา อิติ วุจจะติ

กายัสสะ เภทา สัปปัญโญ
สุคะติง โส ปะปัชชะตีติ.

แปลว่า “นรชนใดย่อมฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก คบชู้ภรรยาของผู้อื่น กล่าวเท็จ และประกอบการดื่มสุราเมรัยเนืองๆแล้ว นรชนนั้นไม่ละเวร ๕ ประการ เราเรียกว่า เป็นผู้ทุศีล มีปัญญาทราม ตายแล้วย่อมเข้าถึงนรก

นรชนใดไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ในโลก ไม่คบชู้ในภรรยาของผู้อื่น ไม่กล่าวคำเท็จ และไม่ประกอบการดื่มสุราเมรัย นรชนนั้นละเว้นภัย ๕ ประการแล้ว เราเรียกว่า เป็นผู้มีศีล มีปัญญา เมื่อตายแล้วย่อมเข้าถึงสุคติ ”ดังนี้

ตามหลักในเวรสูตรนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า เวรนั้นหมายถึงบาปอย่างเดียว คนมีเวรก็คือคนมีบาป พระพุทธองค์จึงสอนให้ละเว้นการทำเวร ดังที่ปรากฏอยู่ในศีล ๕ ว่า “เวรมณี” ซึ่งแปลว่า เว้นจากการทำเวร หรืองดเว้นจากการทำบาป อันมีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น

เมื่อเข้าใจถึงคำว่า กรรมและเวรว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรเช่นนี้ ท่านผู้อ่านก็จะเห็นชัดขึ้นมาว่า กรรมนั้นมีความหมายออกไปได้หลายอย่าง อาจจะเป็นความดีก็ได้ หรือไม่ดีไม่ชั่วก็ได้ ส่วนเวรนั้นหมายถึงความชั่วอย่างเดียว เวรจึงเป็นผลจากการกระทำชั่วเท่านั้น

ถ้าเราศึกษาดูชีวิตของสรรพสัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้อย่างละเอียด เราจะได้รับความสว่างจากคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากขึ้น และจะเห็นว่าความเป็นไปของชีวิตสัตว์นั้น มีเหตุมีผลทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญเลย ผลที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ย่อมมีเหตุมาแต่ในอดีตทั้งนั้น ด้วยเหตุฉะนี้แหละสรรพสัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้ จึงต้องแตกต่างกันทั้งรูปร่าง ความคิดอ่าน การเป็นอยู่และวิถีของชีวิต

ท่านทั้งหลายลองสังเกตดูแมลงบางประเภท เช่น ผีเสื้อที่โผผินตอมดอกไม้ก็ได้ จะเห็นว่าที่ปีกของผีเสื้อนั้น มีสีแตกต่างกันออกไป เหมือนกับมีใครสักคนหนึ่งไปบรรจงตกแต่งให้หรือมิฉะนั้นก็ให้สังเกตดูนก นกจะมีสีที่ขนไม่เหมือนกัน ถ้าจะถามว่า ผีเสื้อก็ดี นกก็ดี เขามีความจงใจปรารถนาให้เขามีรูปร่างเช่นนั้นหรือ ผีเสื้อบางตัว ชอบสีเขียว หรือชอบให้ปีกของตนมีลวดลายเช่นนั้นหรือ นก เขามีความจงใจให้สีเป็นเช่นนั้นหรือ รวมทั้งพวกเราที่เป็นมนุษย์ทั้งหลายนี้ด้วยว่า เรามีความประสงค์มาก่อนหรือ ที่จะให้รูปร่างหน้าตาของเราเป็นเช่นนี้ ก็ปรากฏว่า เราไม่ได้มีความประสงค์จงใจให้เป็นเช่นนั้นเลย

    พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

    “กัมมัง สัตเต วิภะชะติ ยะทิตัง หีนัปปะณีตะตาย”

    แปลว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ คือให้ทรามและประณีตต่างๆกัน

    ฉะนั้นกรรมนี่เองที่ตกแต่งรูปร่างของสัตว์ให้ปรากฏในลักษณะ ต่างกันออกไปโดยที่มิได้จงใจในปัจจุบันเลย รูปร่างของเราที่เป็นเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องของกรรมในอดีตตกแต่งมาให้ บางคนต่ำ บางคนสูง บางคนขาว บางคนดำ บางคนสวย ไม่สวย มีอวัยวะในร่างกายแตกต่างกันออกไปมากมายหลายประเภท ทุกชีวิตที่อุบัติ จึงต้องอยู่ในลักษณะเป็นผู้รับผลแห่งกรรมในอดีต และเมื่อสิ่งนั้นเป็นผลของกรรมในอดีต เราจะไปแก้ไขอย่างไรก็ไม่ได้ เป็นการฝืนกฎของกรรม เช่นคนที่เกิดมาผิวดำ แล้วเกิดความไม่พอใจ เพราะเห็นว่าไม่เป็นที่นิยมของชาวโลก ชาวโลกบางกลุ่มเขาเหยียดหยามมากก็คิดแก้ไขใหม่ เพื่อจะให้สีของร่างกายขาวขึ้น ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า จะแก้ไขได้ไหม ย่อมแก้ไขไม่ได้ เมื่อแก้ไขไม่ได้แล้ว จะทำอย่างไรกันต่อไป ผลสุดท้ายก็ต้องยอมรับผลแห่งกรรมนั้นด้วยความยินดี ทั้งชาวโลกทั้งหลายบางกลุ่มก็ควรจะคิดว่าเป็นกรรมของเขา เพราะใครๆ ก็ไม่ปรารถนาจะเกิดมามีผิวดำอย่างนี้ การเหยียดหยามกันในเรื่องผิวก็จะไม่เกิดขึ้นเพราะคนเราเลือกเกิดกันไม่ได้

ข้าพเจ้าขอสรรเสริญท่านประธานาธิบดีเคนเนดี้ แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ให้สิทธิระหว่างคนผิวดำกับคนผิวขาวเสมอภาคกัน เพราะปัญหาเรื่องการเหยียดหยามผิวนี้ ในสหรัฐเป็นมานานแล้ว ก็ควรจะเลิกกันเสียที เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆตน เขาจะต้องรับผลแห่งกรรมเช่นนั้น ทั้งคนเราจะดีจะชั่วจะสูงหรือต่ำไม่ไช่อยู่ที่ผิว ตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น ท่านกล่าวว่าอยู่ที่กรรมคือการกระทำ

ในประเทศไทยเรานี้ก็มีบุคคลที่ควรได้รับการอนุเคราะห์อยู่มากเหมือนกัน เช่น คนที่เกิดมาตาบอด เป็นใบ้ เป็นบ้า หรืออวัยวะพิกลพิการ บุคคลเหล่านี้เกิดมาเพื่อใช้หนี้กรรม เขาไม่มีความปรารถนาจะเป็นเช่นนั้นเลย บุคคลเหล่านี้จึงควรได้รับความกรุณาจากผู้ใจบุญทั้งหลายอย่างยิ่ง

อีกประการหนึ่งที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ เพราะข้าพเจ้าเคยได้ยิน เคยได้รับปัญหาอยู่หลายครั้งคือ เคยมีผู้ให้แง่สังเกตเกี่ยวกับความเป็นไปของสัตว์โลกว่า เป็นไปอย่างไม่ยุติธรรมเลย เช่น สัตว์โลกต้องมีฐานะแตกต่างกัน เบียดเบียนกัน ตัวอย่างเช่น บางคนเกิดมาพิการ บางคนเกิดมาสมบูรณ์ดีทุกอย่าง บางคนเกิดมาจน บางคนเกิดมาร่ำรวย สัตว์ใหญ่ก็   กินสัตว์เล็ก สัตว์ที่แข็งแรงกว่าก็เบียดเบียนสัตว์ที่อ่อนแอกว่า คนที่มีอำนาจมากก็ข่มเหงรังแกคนที่มีอำนาจน้อย คนโง่ก็ตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด ดูแล้วโลกเรานี้ไม่มีความยุติธรรมเลย

คนที่มีความรู้สึกเช่นนี้ เป็นบุคคลที่น่าเห็นใจมาก เพราะเขาไม่เข้าใจในกฎของกรรมอันเป็นกฎที่ทุกคนหลีกหนีกันไม่พ้น จึงได้มองเห็นโลกไปในแง่ของความไม่ยุติธรรม ซึ่งถ้าเขาเหล่านั้นได้ศึกษาหาเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องของกรรมนี้แล้ว จะเห็นความจริงของโลกขึ้นมาว่า เต็มไปด้วยความยุติธรรม ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้เลยที่ไม่ยุติธรรม

สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็กก็เป็นความยุติธรรม สัตว์ที่แข็งแรงกว่าเบียดเบียนสัตว์ที่อ่อนแอกว่า ก็เป็นความยุติธรรม คนที่มีอำนาจเบียดเบียนคนที่ไม่มีอำนาจก็ยุติธรรม คนโง่ตกเป็นเหยื่อของคนฉลาดก็เป็นความยุติธรรม คนที่เกิดมาพิการก็เป็นความยุติธรรมของโลก ทั้งนี้เพราะตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น คำว่า ยุติธรรมนี้ ก็คือวิบากหรือผลของกรรมนั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากความยุติธรรมของโลกมาก

ความยุติธรรมทางโลกนี้ เป็นความยุติธรรมโดยสมมุติ เพราะฉะนั้นจึงปรากฏอยู่เสมอว่า ผู้นั้นไม่ได้รับความยุติธรรม ผู้นี้ไม่ได้รับความยุติธรรมตามความเข้าใจของเรา ส่วนมากจึงไม่ค่อยจะยุติกันได้ว่า อย่างไรจึงจะเรียกว่ายุติธรรม

บางท่านให้ความเห็นว่า “ความยุติธรรมคือสิ่งที่เท่ากัน และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย”

บางท่านก็ให้เหตุผลว่า “ความยุติธรรมนั้นคือความพอใจของผู้ให้ในสิ่งที่เท่ากัน และผู้รับก็ยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมแล้ว” ซึ่งเหตุผลข้อหลังนี้ ยังมีข้อแม้ออกไปอีกว่า ถ้าผู้รับไม่ยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมก็ยังไม่ไช่ความยุติธรรม ฉะนั้นจึงเป็นปัญหากันอยู่เสมอ เรื่องนี้ข้าพเจ้าเคยถามท่านผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายคือ ศาสตาจารย์พระยานิติศาสตร์ไพศาล(นิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์) ท่านให้คำอธิบายว่า ในหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า “ยุติธรรม คือความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ความชอบด้วยเหตุผล ” และในหนังสือตำราว่าด้วยกฎหมายของสมเด็จในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อธิบายว่า  เราจะต้องระวัง อย่าคิดเอากฎหมาย ไปปนกับความดีความชั่วหรือความยุติธรรม กฎหมายเป็นคำสั่ง คำบัญชา เป็นแบบแผนที่เราจะต้องประพฤติตาม แต่กฎหมายนั้นบางทีก็ชั่วได้ หรือไม่เป็นยุติธรรมก็ได้ ความคิดว่าอะไรดี อะไรชั่ว หรืออะไรเป็นยุติธรรม เป็นอยุติธรรม มีบ่อเกิดขึ้นหลายแห่ง เช่น ตามศาสนาต่างๆ แต่กฎหมายนั้นเกิดขึ้นได้แห่งเดียว คือจากผู้ปกครองแผ่นดิน หรือผู้ที่ปกครองแผ่นดินอนุญาตเท่านั้น

อนึ่ง คำอธิบาย คำกฎหมายที่ว่ามาแล้วนั้น ก็ยังมีที่ติด้วยเหตุว่ายกเอาคำสั่งคำบัญชาขึ้นเป็นข้อสำคัญ บางสิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย จะสืบแสวงหาตรองดูให้เป็นคำสั่ง คำบัญชาของผู้ปกครองแผ่นดินได้ยากอย่างยิ่ง ความจริงนั้นไม่มีกฎหมายประเทศใดที่เป็นบทบังคับแท้ ซึ่งคุ้มการที่เกิดขึ้นทุกชนิดทุกอย่าง แต่การที่ทุ่มเถียงกันทุกชนิดทุกอย่างคงจะได้มาในศาล ซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัย ก็เมื่อไม่มีกฎหมายดังนี้แล้ว ที่ได้ทำกันมานั้นทำกันอย่างไร

ในเมืองอังกฤษ ไม่มีประมวลกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ศาลอ้างถึงกฎหมายธรรมดา ซึ่งเป็นกฎหมายที่สันนิษฐานเอาทั้งนั้น และซึ่งไม่มีเขตจบแท้จริง เป็นแต่ความคิด อีกแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส มีกฎหมายทั้งสิ้นเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเรียกชื่อว่า “โค้ต” (ประมวลกฎหมาย) แต่ถึงกระนั้นก็ดี ก็ไม่คุ้มการที่เกิดขึ้นทุกอย่าง หามิได้ แต่ในมาตรา ๔ แห่งโค้ดแพ่งกล่าวว่า ถ้าผู้พิพากษาคนใดไม่ตัดสินความให้ โดยว่าไม่มีกฎหมายแล้วให้มีโทษ และความโค้ดอาญามาตรา ๑๘๕ วางโทษให้ปรับ ๒๐๐ แฟรงค์ และในโค้ดแพ่งอีกมาตราหนึ่งถัดลงมา คือมาตรา ๕ กล่าวชัดว่าไม่ให้ผู้พิพากษาคนใดวางบทลงเป็นแบบนอกกฎหมาย น่าเป็นการฉงนมาก มาตราหนึ่งบังคับให้วางบท อีกมาตราหนึ่งไม่ยอมให้วางบทนอกกฎหมาย ก็เมื่อกฎหมายไม่มีครบเป็นการน่าจนใจ น่าจะคิดว่าผู้พิพากษาตัดสินยกฟ้องโดยอ้างว่ากฎหมายไม่ยอมทุกเรื่อง ที่ไม่มีบทในโค้ดนั้น แต่หาเป็นดังนั้นไม่ เขาอาจเอาความคิดอื่นมาอ้างเป็นข้อวินิจฉัยต่อไปใช้สำนวนว่า

“ตามแบบและวิธีกฎหมาย” หรือ “ตามความเห็นทางกฎหมาย” หรือ “ตามความยุติธรรม” เหมือนหนึ่งอ้างบทกฎหมายแท้ จำเป็นต้องมีอะไรต่อไปสำหรับค้ำหนุนบทที่มีอยู่ มิฉะนั้นล้มหมดทั้งสิ้น จะเรียกว่า อะไรก็ได้ กฎหมายธรรมดาหรือแบบและวิชากฎหมาย หรือความยุติธรรมได้ทั้งนั้น ทั้งนี้เป็นเครื่องมือเผื่อไว้ให้แก่ผู้พิพากษาและก็เรียกว่ากฎหมาย

ในเมืองไทยเรา คำพิพากษาเก่าๆ อ้างความยุติธรรมขึ้นตั้งเสมอๆแต่คำที่เรียกว่า ยุติธรรมเป็นคำไม่ยุติ เพราะเป็นการที่ทุกคนเห็นต่างกันตามนิสัยซึ่งไม่เป็นกิริยาของกฎหมาย กฎหมายต้องเป็นยุติจึงเถียงแปลออกไปไม่ได้ แต่เราเถียงได้ว่าอย่างไรเป็นยุติธรรม อย่างไรไม่ยุติธรรมทุกเมื่อทุกเรื่อง กฎหมายเป็นวิชาเป็นแบบเป็นร่างกายหมดสิ้น เมื่อกฎหมายไม่มีรอยที่จะเดิน เราก็เดินไปข้างไหนไม่ได้ นอกจากรอยที่กฎหมายอื่นเขาได้เดินมาแล้ว กฎหมายไม่ไช่ใจคนอย่างยุติธรรม ทั้งนี้มีคนเข้าใจผิดมากแต่ผิดก็เพราะไม่เข้าใจคำที่เรียกว่า วิชานั่นเอง

ตามคำอธิบายนี้จะเห็นได้ว่า กฎหมายกับความยุติธรรมนั้นแตกต่างกัน ยุติธรรมเป็นเรื่องของจิตใจ กฎหมายเป็นเรื่องคำสั่ง คำบัญชา เป็นแบบแผนที่จะต้องปฏิบัติตาม อะไรยุติธรรมจึงเป็นปัญหา

บางทีผู้ให้ตัดสินว่า เป็นยุติธรรมแล้ว แต่ผู้รับหรือผู้ถูกตัดสิน ว่าไม่ยุติธรรมก็ยังไม่เป็นความยุติธรรมที่แท้ แต่ถ้ายอมรับก็เป็นยุติธรรมไป จะขอยกตัวอย่างมาพิจารณา สักเรื่องหนึ่ง เช่น สมมุติว่าท่านมีลูกอยู่ ๕ คน วันหนึ่งท่านไปตลาด หรือจะไปต่งจังหวัดก็ตาม ท่านไปพบผลไม้ คือ ส้มเขียวหวาน ท่านก็ซื้อมา ๒๐ ผล พอมาถึงบ้าน ก็แบ่งให้ลูกทั้ง ๕ คน คนละ ๔ ผล ซึ่งถ้าพิจารณาตามจำนวนผลก็เป็นความยุติธรรมดีอยู่ เพราะผลเท่า ๆ กันจำนวนก็เท่ากัน แต่ในจำนวนลูก ๕ คนนั้น ถ้าอีกคนหนึ่งร้องขึ้นว่า ท่านไม่ยุติธรรม ท่านจะมีความรู้สึกอย่างไร ท่านจะต้องมีความรู้สึกว่า ลูกท่านคนนั้นโกง ใช้ไม่ได้ เอาเปรียบคน ทั้ง ๆ ที่ท่านก็แบ่งให้ตามจำนวนเท่ากัน แต่ถ้าท่านถามเขาว่า เพราะเหตุใดลูกจึงว่าไม่ยุติธรรม เขาก็จะตอบว่า กลีบส้มมันไม่เท่ากัน รสของส้มก็ไม่เท่ากัน เพราะส้มแต่ละผลนั้นย่อมมีกลีบไม่เท่ากัน ทั้งรสของส้มก็ไม่เหมือนกัน แล้วท่านจะปวดศรีษะแค่ไหน

ดังตัวอย่างที่ยกมานี้จะเห็นได้แล้วว่า ความยุติธรรมโดยสมมุตินั้น ย่อมเกิดเป็นปัญหาเช่นนี้เสมอ ครั้นเมื่อผู้ใดได้ประสบต่อปัญหาเช่นนี้แล้วก็มักจะพูดกันอย่างน้อยใจว่า ในโลกนี้หาความยุติธรรมไม่ได้ และบุคคลเหล่านี้ก็น่าจะได้รับการเห็นใจ เพราะยังไม่เข้าใจว่า ยุติธรรมที่แท้นั่นคืออะไร

ตามหลักที่แท้จริงนั้น ในโลกเรานี้เต็มไปด้วยความยุติธรรม สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวไปมาในสังสารวัฏต้องได้รับความยุติธรรมทั้งนั้น ไม่ว่ากรณีใด ๆ สัตว์เล็กถูกสัตว์ใหญ่กิน ก็เป็นความยุติธรรม สัตว์ที่อ่อนแอ ถูกสัตว์ที่แข็งแรงกว่าข่มเหงรังแกก็เป็นความยุติธรรม คนที่ไม่ได้ทำผิดในปัจจุบันแต่ต้องถูกลงโทษถึงติดคุกติดตะรางก็ยุติธรรม นอนอยู่บ้านดี ๆ พวกมาจับเอาไปทุบตีก็ยุติธรรม รวมทั้งคนที่เกิดมาพิกลพิการก็ยุติธรรม เกิดมาแล้วต้องแก่ก็ยุติธรรม เกิดมาแล้วต้องตายนั่นก็เป็นความยุติธรรม

รวมความแล้วทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามกระบวนการของความยุติธรรมทั้งนั้น เพราะตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั้น บุคคลกระทำกรรมอันใด ก็ย่อมรับวิบากคือผลแห่งกรรมอย่างนั้น

สัตว์ที่ถูกเขาฆ่าก็เพราะในอดีตเคยไปฆ่าเขามาก่อน

สัตว์ที่ถูกเบียดเบียนถูกข่มเหงรังแกก็เพราะในอดีตเคยไปเบียดเบียนไปข่มเหงรังแกเขามาก่อน

สัตว์ที่ถูกล่อลวงในปัจจุบันก็เพราะในอดีตเคยไปล่อลวงเขามาก่อน

คนที่ถูกโกงในปัจจุบันก็เพราะอดีตเคยไปคดโกงเขามาก่อน

คนที่ถูกลงโทษถึงติดคุกติดตะราง โดยปัจจุบันไม่เคยกระทำผิดแต่อย่างใด ก็เพราะอดีตเคยลงโทษผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดมาก่อน ครั้นมาปัจจุบันชาตินี้ ตนจึงต้องได้รับผลแห่งการกระทำอย่างนั้นบ้าง นี่แหละท่านจึงกล่าวว่าเป็นความยุติธรรมอย่างยิ่ง ทั้งความยุติธรรมอย่างนี้ก็มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ

คนที่กระทำผิด กระทำความชั่ว ในปัจจุบัน แต่ไม่ถูกกฎหมายลงโทษก็อย่าคิดว่า ตนไม่ต้องได้รับผลแห่งการกระทำเช่นนั้น จะต้องถูกลงโทษอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนจะถูกลงโทษให้เห็นในปัจจุบันชาติหรืออนาคตชาติก็แล้วแต่น้ำหนักของกรรม ซึ่งจะขอกล่าวต่อไปข้างหน้า

วิบากหรือผลของกรรมดังทีกล่าวมานี้ ย่อมเป็นหลักของการพิจารณาว่า โลกของเรานี้ มีความยุติธรรมอย่างแน่นอน ทั้งยังเป็นความยุติธรรมทุก ๆโลกด้วย ไม่จำกัดเฉพาะแต่โลกมนุษย์เท่านั้น

เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึงอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ ขึ้นมาได้

คือ เรื่องมีอยู่ว่า เช้าวันหนึ่ง มีพระภิกษุ ๒รูปซึ่งอยู่ที่วัดระฆังนั้นเกิดวิวาทกันขึ้นก่อนที่จะออกไปบิณฑบาต ในสมัยนั้นการบิณฑบาตทางฝั่งธนบุรี ต้องใช้เรือพายไปตามคลองในสวน ก่อนที่พระท่านจะออกบิณฑบาต ก็มีพระรูปหนึ่งเอาด้ามพายไปตีศรีษะพระอีกรูปหนึ่งเข้า พระรูปที่ถูกตีไปฟ้องเจ้าประคุณสมเด็จ เจ้าประคุณสมเด็จก็ตัดสินว่า พระที่ถูกตีนั่นแหละไปตีเขาก่อน เขาจึงตีเอาให้บ้าง เพราะมีตัวอย่างที่ไหนที่เราอยู่ดี ๆ จะมีคนเอาด้ามพายมาตีศรีษะได้ พระรูปที่ถูกตียังยืนกรานอยู่ว่าท่านไม่ได้ตีก่อน เจ้าประคุณสมเด็จก็ยังยืนยันว่า รูปที่ถูกตีนั่นแหละไปตีเขาก่อน

เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จยังยืนยันอย่างนั้นว่า พระรูปที่ถูกตีศรีษะไปตีอีกรูปก่อนตามเดิม พระรูปที่ถูกตีศรีษะก็เสียใจร้องไห้ หาว่าสมเด็จไม่ยุติธรรม มีความลำเอียง เข้ากับพระรูปที่ตีศรีษะท่าน ท่านก็ไม่ยอมพยายามดิ้นรนหาความยุติธรรมให้ได้ ปรากฏว่า พระรูปที่ถูกตีฟ้องไปทางเถระผู้ใหญ่คือ สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) สมเด็จพระวันรัต ก็ตั้งให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งในสมัยนั้นท่านยังสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวีอยู่ ให้ระงับอธิกรณ์นี้เสียด้วยความยุติธรรม

เจ้าประคุณสมเด็จ ก็ยังยืนยันตามเดิมว่า พระที่ถูกตีนั่นแหละไปตีเขาก่อน รูปที่ถูกตีก็ยืนยันว่า ท่านไม่ได้ตี รูปนั้นมาตีท่านก่อน ผลสุดท้าย เรื่องนี้ก็ทราบไปถึงสทเด็จพระวันรัตอีก สมเด็จพระวันรัต จึงถามเจ้าพระคุณว่า เพราะเหตุไรจึงตัดสินว่า รูปที่ถูกตีศรีษะไปตีรูปนั้นก่อน

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ก็ให้เหตุผลว่า เนื่องจากผลกรรมแต่ปางก่อนที่พระรูปนี้เคยตีเขามาก่อน ผลกรรมจึงไม่ยุติลงตามสนองในชาตินี้อีก ด้วยการถูกตีบ้าง เพราะชาติก่อนไปตีเขามา ผลสุดท้ายสมเด็จพระวันรัตจึงต้องยอมด้วยเหตุผล แล้วกล่าวกับสมเด็จว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงหยุดกรรมอันนี้เสีย เจ้าพระคุณสมเด็จจึงหาปัจจัยบางอย่างมาถวายให้พระรูปที่ถูกตีศรีษะเป็นการปลอบใจ แล้วก็กล่าวสอนพระทั้งสองรูปนั้นว่า “ขอให้ท่านทั้งสองจงอโหสิกรรมให้แก่กันและกันเถิด” เรื่องก็เป็นอันหยุดลงด้วยดี โดยพระทั้งสองรูปนั้นท่านอโหสิกรรมต่อกัน และอยู่ต่อมาท่านก็สมาคมด้วยดี ไม่มีความบาดหมางใจกันอีกต่อไป

อธิกรณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ได้รับการตัดสินอย่างเป็นธรรมที่สุดและการตัดสินเช่นนี้แหละเป็นความยุติธรรมที่แท้จริงตามหลักของพระพุทธศาสนา

การพิจารณาถึงความยุติธรรมตามหลักธรรมนั้น จะต้องพิจารณาถึงอดีตชาติด้วย มิฉะนั้นเราจะไม่ทราบเลยว่าความยุติธรรมนั้นคืออะไร มีจริงหรือไม่ เพราะชีวิตปัจจุบันเป็นผลมาแต่อดีต เรากระทำกรรมอะไรมาบ้างก็ไม่อาจทราบได้ แต่ก็พอจะพิจารณาได้อย่างละเอียดว่า ถ้าผลที่เราได้รับในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุปัจจุบัน ก็ต้องเป็นผลมาจากเหตุอดีตอย่างแน่นอน ที่จะเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุนั้น ไม่มีแน่

ชีวิตของสรรพสัตว์ที่เกิดมาในโลกปัจจุบันนี้ จึงอยู่ในฐานะของผู้เกิดมาเพื่อชดใช้หนี้กรรมให้หมดไป ไม่ว่าชีวิตนั้นจะประสบต่อความทุกข์หรือความสุขก็ตาม ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

"สเจ ปุพเพ กะตะเหตุ
สุขะทุกขัง นิคัจฉะติ

โปราณะกัง กะตัง ปาปัง
ตะเมโส มุญจะเต อิณัง ฯ"

แปลว่า ถ้าบุคคลประสบสุขหรือทุกข์ เพราะบุญหรือบาป ที่กระทำไว้แต่ปางก่อนเป็นเหตุ บุคคลนั้นเชื่อว่าเปลื้องบาปเก่าที่ทำดุจเปลื้องหนี้ฉะนั้น

พุทธภาษิตบทนี้ชี้ให้เห็นว่า อันความทุกข์หรือความสุขก็ตาม เป็นวิบากหรือผลของกรรมทั้งนั้น คนที่เกิดมามีความสุขสำราญในปัจจุบันก็เพราะกุศลกรรมแต่อดีตส่งผล และเมื่อตนกำลังเสวยความสุขมากมายแค่ไหนก็ตาม นั่นเป็นการชดใช้กุศลกรรมแต่อดีตให้หมดไปตามลำดับ ถ้ากุศลกรรแต่อดีตหมดลงเมื่อใด ชีวิตของเขาเหล่านั้นต้องเผชิญต่อความทุกข์ อันเป็นผลของกรรมชั่วต่อไป เพราะชีวิตของสรรพสัตว์เวียนว่ายตายเกิดนั้นจะต้องประกอบกรรมทั้งที่ดีและชั่วมาเป็นของคู่กัน เมื่อกรรมดีกำลังให้ผลกรรมชั่วก็หมดโอกาสที่จะให้ผล หรือเมื่อกรรมชั่วกำลังให้ผลกรรมดีก็หมดโอกาสที่จะให้ผล

ถ้าชีวิตกำลังเสวย ความทุกข์อย่างแสนสาหัส ก็พึงทราบว่า เรากำลังชดใช้หนี้กรรมที่เป็นอกุศลให้หมดไป เมื่อหมดกรรมที่เป็นอกุศลแล้ว ก็จะประสบต่อความสุขอันเป็นผลของกุศลกรรมอย่างแน่นอน คนที่เกิดมามีความสบายมีความสุขมาก ก็ไม่ควรประมาท เพราะผลกรรมที่ดีกำลังหมดไปตามลำดับ ถ้าท่านไม่สร้างกุศลกรรมใหม่เพิ่มเติมแล้ว ชีวิตจะต้องประสบต่อความทุกข์นั้นในบั้นปลายอย่างแน่นอน ตัวอย่างในปัจจุบันชาติมีให้เราเห็นมากมาย บางครอบครัวตอนต้นมีความสุขอย่างฟุ่มเฟือย แต่ตอนปลายกลับต้องเผชิญต่อความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสก็มี บางครอบครัวตอนต้นมีความทุกข์อย่างแสนสาหัส แต่ตอนปลายกลับมีความสุขสบายก็มี นี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า ความสุขความทุกข์นั้นเป็นการปลดเปลื้องหนี้ของกรรมในอดีต

แสนเสียดายชีวิตของบุคคลที่ฆ่าตัวตายเหลือเกิน ถ้าการคิดฆ่าตัวตายนั้นมิได้เป็นผลของกรรมแต่อดีต หมายความว่า คิดกระทำกรรมใหม่ในปัจจุบันนี้ เพราะตามหลักของกรรมนั้น คนเราจะมีความทุกข์ตลอดไปไม่ได้ วันหนึ่งความทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นจะต้องสิ้นสุดลงไป ถ้าเราไม่สร้างกรรมชั่วอันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ขึ้นใหม่ในปัจจุบันชาตินี้ เหมือนคำพูดของกวีที่ว่า

“เมื่อเมฆหมอกของพายุฝนหายไป ท้องนภาย่อมแจ่มใส” เบื้องหน้าของบุคคลที่กำลังมีความทุกข์ ก็คือความสุขสดชื่น เพียงแต่ให้ท่านอดทนต่อความทุกข์เหล่านั้นต่อไป อย่าท้อแท้ใจ พร้อมกันนั้นก็ใช้กาลเวลาอันเป็นทุกข์ของท่าน สร้างคุณงามความดี อันเป็นกุศลกรรมอยู่เสมอ แล้วท่านจะต้องประสบแต่ความสุขในเบื้องหน้าอย่างแน่นอน

พร้อมกันนี้ก็อดสงสารบุคคลที่เกิดมามีความสุข แต่กำลังประกอบแต่กรรมชั่วอย่างประมาทมัวเมา ไม่สร้างสรรค์คุณความดีขึ้นเลย เพราะเมื่อกุศลกรรมแต่อดีตให้ผลหมดแล้ว เขาเหล่านี้จะต้องเผชิญต่อความทุกข์ต่อไป เบื้องหน้าของชีวิตคนที่เป็นสุข เหมือนในยามที่ท้องนภาแจ่มใสปราศจากเมฆหมอกและพายุฝน แต่เบื้องหน้าของความแจ่มใสนี้จะต้องเผชิญมรสุมอย่างแน่นอน อันนี้เป็นกฎธรรมดาของธรรมชาติ กรรมก็เช่นเดียวกันย่อมเป็นไปไม่ต่างกันกับธรรมชาติ ทุกคนจึงควรพิจารณาถึงกฎแห่งความจริงของชีวิตอย่างนี้ เพราะการเกิดมาของชีวิต เป็นการปลดเปลื้องหนี้กรรมแต่อดีต

ตราบใดที่นามรูป ยังมีการเกิด การตั้งอยู่และดับไป ไม่มีที่สิ้นสุดดุจกระแสน้ำหรือดวงประทีปเช่นนี้ ทุกชีวิตจะต้องเป็นไปตามกรรมลิขิตทั้งนั้น จึงควรกระทำกรรมที่ดี ที่เป็นกุศลเพื่อผลคือความสุข และจงงดเว้นจากกรรมที่ไม่ดี เป็นอกุศล อันจะเป็นผลให้ได้รับความทุกข์นั้นเสีย ชีวิตแห่งการท่องเที่ยวไปมาในวัฏสาครนี้ ก็จะมีความทุกข์น้อยลง จนกว่าจะบรรลุถึงซึ่งความยุติธรรม ด้วยการบรรลุมรรค ผล นิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะทั้งปวง

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายจะต้องประสบต่อความยุติธรรมด้วยกันทั้งนั้นความทุกข์ความสุขที่เราได้รับกันอยู่เสมอนี้เป็นความยุติธรรมแล้ว ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปแสวงหาความยุติธรรมภายนอกหรือจากผู้อื่น

ในสมัยที่พระโมคคัลลานะถูกโจรทุบ ท่านสาธุชนทั้งหลายส่วนมากก็คงจะรู้จักพระอรหันต์สาวกองค์นี้ได้ดี เพราะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้ายเลิศในทางมีฤทธิ์ ไม่มีสาวกองค์ใดเสมอเหมือน สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ หายตัวได้ ดำดินได้ ทำได้สารพัดอย่าง แต่ท่านผู้นี้กลับต้องนิพพาน เพราะถูกโจรทุบ การนิพพานของท่านจึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากมายทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์วิจารณ์ว่า พระ โมคคัลลานะ นิพพาน ไม่สมกับอัตภาพของตนเลย ไม่น่าจะนิพพานในลักษณะเช่นนี้เลย

พระพุทธองค์ทรงทราบการสนทนาวิจารณ์เช่นนั้น จึงตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมคคัลลานะมิใช่ว่าจะนิพพานไม่สมควรแก่อัตภาพนี้เท่านั้น การนิพพานของเธอสมควรแท้แก่กรรมที่เธอก่อมาแต่กาลก่อน”

ภิกษุทั้งหลายจึงทูลถามถึงบุรพกรรมของพระโมคคัลลานะ พระพุทฑองค์จึงตรัสถึงกรรมในอดีตของพระโมคคัลลานะว่า ในอดีตนั้น พระโมคคัลลานะมีบิดามารดาผู้แก่เฒ่า และปรนนิบัติท่านทั้งสอง ด้วยความกตัญญูกตเวที อยู่ต่อมาบิดามารดาก็หาภรรยามาให้คนหนึ่ง ครั้นแรกก็ไม่เต็มใจที่จะมีภรรยา เพราะตนเองจะอยู่เลี้ยงดูมารดาบิดาเสียก่อน ส่วนมารดาบิดาก็ประสงค์จะให้ลูกชายมีภรรยาเป็นฝั่งเป็นฝาไปเสียที จึงหาภรรยามาให้

เมื่อได้ภรรยามาอยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับมารดาบิดาเพียง ๓ วันเท่านั้น ภรรยาก็บ่นว่ารำคาญมารดาบิดาทั้งสองซึ่งตาบอดเหลือเกิน เพราะคนทั้งสองทำให้บ้านช่องรกรุงรัง แล้วก็ติเตียนมารดาบิดาทั้งสองของสามีให้สามีฟัง เมื่อสามีเดินทางออกไปทำงานนอกบ้าน นางก็แกล้งเอาก้านปอ เอาปอ เอาฟาง ข้าวยาคูไปเรียงรายเสียทั่วบ้าน เมื่อสามีกลับมานางก็ฟ้องบอกว่า เพราะคนทั้งสองซึ่งตาบอดทำให้รกสกปรก ฉันไม่อาจสามารถอยู่ร่วมกับคนทั้งสองได้

ในขณะนั้นพระโมคคัลลานะ กำลังหลงภรรยาอยู่ก็หวังจะเอาใจภรรยาของตน จึงวางแผนฆ่ามารดาบิดาของตน วันหนึ่งก็วางแผนฆ่าทันที ครั้นแรกก็เชิญมารดาบิดาบริโภคอาหารจนอิ่มหนำสำราญแล้วก็บอกว่าวันนี้จะพาคุณแม่และคุณพ่อไปหาญาติ เมื่อมารดาบิดาขึ้นเกวียนเรียบร้อยแล้วก็ออกเดินทาง เมื่อเกวียนเดินไประหว่างทางซึ่งจะต้องผ่านป่า พระโมคคัลลานะก็บอกกับพ่อว่า ถึงกลางดงแล้วในที่นี้มีโจรชุกชุมมากจึงให้พ่อซึ่งตาบอดถือเชือกไว้ แล้วตนเองก็ลงไปแกล้งร้องเป็นเสียงโจรมาปล้น สองคนตายายมีความรักห่วงใยลูกมาก ถึงแม้ตนเองจะได้รับอันตรายก็ตะโกนบอกให้ลูกหนีเอาตัวรอดไปเสีย ไม่ต้องห่วงพ่อและแม่เพราะแก่แล้วถึงตายก็ไม่เสียดายชีวิต ขอให้ลูกหนีรอดไปเถิด ผลสุดท้ายสองตายายก็ถูกลูกชายทุบศรีษะจนตาย ครั้นฆ่ามารดาบิดาตายแล้วก็ทิ้งศพไว้ในป่า

ด้วยผลกรรมที่พระโมคคัลลานะฆ่าแม่และพ่อของตน ต้องตกนรกหมกไหม้หลายแสนปี ครั้นพ้นจากนรกแล้ว ยังต้องเกิดมาถูกเขาฆ่าด้วยการถูกทุบอย่างแหลกเหลวถึง ๑๐๐ ครั้งหรือร้อยชาติ ฉะนั้นการตายของเธอ เป็นการสมควรแก่กรรมที่กระทำมาแล้ว

คือแทนที่พระองค์จะเรียกร้องขอความยุติธรรมจากทางบ้านเมือง ซึ่งมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นประมุข แต่กลับทรงปรารภว่า สมควรแก่กรรมของเธอแล้ว แต่ถึงกระนั้นทางฝ่ายบ้านเมืองก็ไม่นิ่งนอนใจ พระเจ้าอชาตศัตรูส่งสายลับออกสืบเป็นจำนวนมาก เพื่อควานหาว่าใครเป็นผู้ฆ่าพระโมคคัลลานะ ผลสุดท้ายก็ทราบจากสายลับว่า ได้มีพวกเดียรถีย์คือนักบวชนอกพระพุทธศาสนา เสื่อมจากลาภสักการะ พวกเดียรถีย์จึงปรึกษากันว่า เพราะพระโมคคัลลานะเป็นกำลังอันสำคัญของสมณโคดมที่ปลูกศรัทธาให้คนไปเลื่อมใสกันมากด้วยอิทธิฤทธิ์ของท่าน ฉะนั้นจึงควรกำจัดพระโมคคัลลานะคนสำคัญเสียก่อน คณะของตนจะได้มีลาภสักการะมากขึ้น

เมื่อปรึกษากันเช่นนี้ จึงไปว่าจ้างให้พวกโจรมาฆ่า ครั้งแรกพระ

โมคคัลลานะ ท่านทราบและก็หนีรอดไปด้วยอิทธิฤทธิ์ของท่านทุกครั้ง แต่พวกโจรเหล่านั้น ไม่ละทิ้งความพยายามที่จะสังหารชีวิตท่าน ท่านจึงระลึกถึงกรรมในอดีตชาติได้ว่ากำลังตามสนองผลท่านอย่างหลีกหนีไม่พ้น ถึงจะเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตาม เพราะกรรมนั้นเป็นอดีตเป็นอนันตริยกรรมด้วย ท่านจึงไม่หลบหนี ปล่อยให้โจรทุบตีเสร็จแล้วท่านจึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติประสานกระดูกที่ถูกโจรทุบเสียแหลกเหลวแล้วเหาะไปเฝ้าพระบรมศาสดา ขอทูลลาดับขันธปรินิพพานยังกาฬสิลา

ก่อนที่ท่านจะปรินิพพาน พระพุทธองค์ก็ให้ท่านแสดงอิทธิฤทธิ์ให้ทอดพระเนตรอีกเป็นครั้งสุดท้าย เหมือนกับพระสารีบุตร เพราะท่านทั้งสองเป็นอัครสาวก

อยู่ต่อมาพระเจ้าอชาตศรัตรูก็จับโจรที่ฆ่าพระโมคคัลลานะได้หมดแล้วสั่งให้ลงโทษโจรเหล่านั้นอย่างหนักเช่นกัน โดนจับพวกเดียรถีย์และโจรฝังลงในหลุมทั้งเป็นประมาณแค่สะดือ แล้วเอาฟางกลบ เมื่อกลบแล้วก็เอาไฟเผาจนตาย เมื่อเผาเสร็จแล้วก็สั่งให้เอาไถเหล็กไถอีกครั้งหนึ่ง จนศพขาดเป็นท่อน ๆ แล้วสั่งจับเอาโจรผู้เป็นหัวหน้าลงมือฆ่าเสียด้วยหลาวสี่คน

พระองค์ทรงทราบก็ตรัสอีกว่า พวกเดียรถีย์และโจรเหล่านั้นได้ประทุษร้านต่อบุตรของเราผู้ไม่ได้ประทุษร้ายตอบ ก็ได้ตายอย่างเหมาะสมกับกรรมของตนแล้วเหมือนกัน เพราะกรรมย่อมสนองกรรมเช่นนี้ แล้วพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

บุคคลที่ประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ได้ประทุษร้ายตอบ ย่อมประสบความพินาศฉิบหายด้วยเหตุ ๑๐ ประการ อย่างแน่นอนคือ

  • ๑.   ย่อมถึงเวทนาอันเผ็ดร้อนอย่างแรงกล้า คือ ถูกโจรชนิดใดชนิดหนึ่งเสียดแทงให้เกิดความเจ็บปวด
  • ๒.   จะต้องประสบความเสื่อมจากทรัพย์อย่างมหาศาล ที่ตน แสวงหามาโดยยาก
  • ๓.   จะต้องถูกผ่าตัด สรีรกายจะต้องแตกออกไปด้วยการถูกผ่า อย่างใดอย่างหนึ่ง
  • ๔.   จะต้องได้รับความอาพาธอย่างหนัก ด้วยโรคเรื้อนประจำกาย หรือโรคอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทรมานร่างกาย
  • ๕.   จะต้องได้รับความฟุ้งซ่านทางจิตใจ จนถึงวิกลจริต ถ้าไม่ถึง วิกลจริตก็หาความสบายไม่ได้ จิตใจจะต้องกระวนกระวายอยู่เสมอ
  • ๖.   จะต้องประสบความขัดข้องแห่งพระราชา คือจะถูกถอดยศ ถอดตำแหน่งในหน้าที่ราชการต่าง ๆ
  • ๗.   จะต้องถูกกล่าวตู่ ถูกประนามอย่างร้ายแรงที่สุดจากบุคคลที่เป็นบัณฑิต
  • ๘.   จะต้องประสบกับความย่อยยับจากเครือญาติ มิตรทั้งหลายจะตีตนออกห่าง ญาติจะตัดสัมพันธไมตรี มิตรจะตัดสัมพันธไมตรี
  • ๙.   จะต้องรับความย่อยยับจากโภคะทั้งหลาย จะพบกับความวิบัติจากทรัพย์สมบัติที่ตนมีอยู่
  • ๑๐.  ไฟจะไหม้บ้านเรือน ทรัพย์สมบัติที่ตนมีอยู่จะต้องถูกไฟไหม้เผาผลาญ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงนรก

กฎของกรรมเหล่านี้ผู้กระทำกรรมทุกคน จะต้องประสบอย่างแน่นอน จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ฉะนั้นบางคนเมื่อกรรมยังไม่สนองผลผู้กระทำกรรมชั่วย่อมประมาทร่าเริงยินดี แต่เมื่อกรรมชั่วเหล่านั้นสนองผลผู้กระทำกรรมชั่วจะรู้สึกเป็นทุกข์เดือดร้อนทันที ผู้กระทำกรรมดีก็เช่นกันบางครั้งกรรมดีให้ผลช้าไป ก็อาจจะเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าผลแห่งการกระทำกรรมดีไม่มี แล้วก็จะเลิกละจากกรรมอันดีนั้นไปเสียอย่างน่าเสียดาย

คัดลอกและตัดตอนมาจากหนังสือ
“กรรม – การให้ผล”
ของ
พระเทพกิตติปัญญาคุณ
(กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ)