ARTICLES ON BUDDHISM

เทศนาโวหาร

หัดตายก่อนตายจริง
โดย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

บัดนี้จักแสดงปาฐกถาธรรม เรื่อง ความตาย เพื่อผู้ที่ไม่กลัวที่จะฟังเรื่องนี้ฟังแล้วจะเกิดความไม่กลัวตาย กล้าตายและได้คติธรรมที่ดีจากคติธรรมดาของบุคคลและสัตว์ทั่วโลกในเรื่องนี้อีกเป็นอันมาก ได้มีพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า “ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต ล้วนไปสู่อำนาจแห่งความตาย ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า” ทุกคนเคยได้รับความหมายของข้อความข้างต้นนี้อยู่แล้ว แทบทุกคนเคยพูดออกจากปากตนเองมาแล้ว แม้จะไม่ตรงเป็นคำๆ แต่ก็มีความหมายตรงกันกับข้อความที่กล่าวแล้วข้างต้นนี้ ทั้งยังเป็นการพูดชนิดที่ติดปากอีกด้วย คือพูดอยู่เสมอ ได้รู้ ได้เห็นการตายอยู่เสมอ ได้รู้ได้เห็นการตายของใครทีไรก็มักจะอุทานเป็นการปลงด้วยความหมายดังกล่าวแทบทั้งนั้น นี่เป็นเพราะทุกคนมีความรู้อยู่แก่ใจ ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีสักคนเดียวที่จะหนีความตายพ้น นับว่าทุกคนมีความได้เปรียบอยู่ประการหนึ่งที่มีความรู้นี้ติดตัวติดใจอยู่ แต่ว่าทุกคนก็มีความเสียเปรียบอยู่ประการหนึ่ง ที่ไม่เห็นค่าเห็นประโยชน์ของความรู้นี้ จึงไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร ปล่อยปละละเลย รู้จึงเหมือนไม่รู้ สิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์จึงเป็นเหมือนสิ่งที่ไม่มีค่า ความรู้ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตายเป็นสิ่งเป็นคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ แม้ใส่ใจในความรู้นี้ให้เท่าที่ควร ก็จะสามารถนำให้เกิดคุณประโยชน์แก่ตนเองได้มหาศาล ไม่มีคุณ ไม่มีประโยชน์ใดอาจเปรียบปานได้ เพื่อส่งเสริมความรู้นี้ให้เกิดคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ตนและแก่ส่วนรวม ปราชญ์ทางพุทธศาสนาทั้งหลาย จึงสอนให้หัดตายเสียก่อนถึงเวลาตายจริง ท่านสอนให้หัดตายไว้เสมอ อย่างน้อยก็ควรวันละหนึ่งครั้งๆละ ห้านาที สิบนาทีเป็นอย่างน้อย

การหัดตายนั้น บางคนบางพวกน่าจะเริ่มด้วยการหัดคิดถึงสภาพเมื่อตนกำลังจะถูกประหัตประหารให้ถึงตาย คิดให้ลึกซึ้งถึงความกลัวตายของตนในขณะนั้น แล้วก็คิดถึงเมื่อต้องถูกประหัตประหารถึงตายจนได้ แม้จะกลัวแสนกลัว แม้จะพยายามกระเสือกกระสนช่วยตนเองให้รอดพ้นอย่างไรก็หารอดพ้นไม่ ต้องตายด้วยความทรมานทั้งกายและใจ การหัดตายด้วยเริ่มตั้งความกลัวตายแบบทารุณโหดร้ายเช่นนี้ มีคุณพิเศษแก่จิตใจจักสามารถอบรมบ่มนิสัยที่แม้เหี้ยมโหดอำมหิตปราศจากความเมตตากรุณา ต่อชีวิตร่างกายผู้อื่น สัตว์อื่นให้เปลี่ยนแปลงได้ ความคิดที่จะประหัตประหารเขาเพื่อผลได้ของตนจักเกิดได้ยาก หรือจักเกิดไม่ได้เลย เพราะการพยายามหัดให้รู้สึกหวาดกลัว การถูกประหัตประหารผลาญชีวิตนั้น เมื่อทำเสมอๆ ก็จะมีผล เป็นความเข้าใจถึงความรู้สึกถึงผู้อื่นที่มีความหวาดกลัวเช่นเดียวกัน ความเมตตาปรานีชีวิตผู้อื่นสัตว์อื่นก็จะเกิดได้แม้จะไม่เคยเกิดมาก่อน ซึ่งจะเป็นการเมตตาปรานีชีวิตตนเองไปพร้อมกันด้วยอย่างแน่นอน ผู้ประหัตประหารเขาแม้จะได้สิ่งที่ต้องได้ แต่ผลที่แท้จริงอันจะเกิดจากกรรมคือการประหัตประหารที่ได้ประกอบหรือกระทำลงไปนั้น จะเป็นทุกข์โทษแก่ผู้กระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กรรมนั้นให้ผลสัตย์ซื่อนัก เหมือนผลของยาพิษร้าย กรรมนั้นเมื่อทำแล้วก็เหมือนดื่มยาพิษที่ร้ายแรงเข้าไปแล้วจะไม่เกิดผลแก่ชีวิตและร่างกายย่อมไม่มีย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นกรรมดีก็จักให้ผลดี ถ้าเป็นกรรมชั่วก็จักให้ผลชั่ว เราเป็นพุทธศาสนิกนับถือพระพุทธศาสนา พึงมีปัญญาเชื่อให้จริงจัง ให้ถูกต้องในเรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรมเถิด จักเป็นศิริมงคล เป็นความสวัสดีแก่ตนเอง ยุคนี้ สมัยนี้น่าจะง่ายพอสมควร สำหรับนึกให้กลัวการประหัตประหารถึงชีวิตเพราะเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นแก่ใครต่อใครไม่ว่างเว้น อาจจะเกิดขึ้นแก่เราเองวินาทีหนึ่ง วินาทีใดก็ได้ คิดไว้ก่อนจึงเป็นการเตรียมพร้อมที่ไม่ปราศจากเหตุผลแต่เป็นการไม่ประมาทความ ตายเกิดขึ้นได้แก่ทุกคนทุกหน ทุกแห่ง ทุกเวลา พุทธสศาสนสุภาษิตกล่าวว่า เมื่อสัตว์จะตายไม่มีภูมิป้องกันแม้จะอยู่ในอากาศ อยู่กลางสมุทร เข้าไปสู่เหลือบเขา ก็ไม่พ้นจากมฤตยูได้ ประเทศคือดินแดนที่มฤตยูจะไม่รุกรานผู้อยู่ไม่มี เราจะถูกมฤตยูรุกรานเมื่อไร ที่ไหนเราไม่รู้ หายใจออกครั้งนี้แล้วอาจจะไม่หายใจเขาอีก เมื่อถึงเวลาจะต้องตายไม่มีผู้ใดจะผัดเพี้ยนได้ ไม่มีผู้ใดจะช่วยได้ เพราะเมื่อสัตว์จะตายไม่มีภูมิป้องกันและความผัดเพี้ยนอันมีกองทัพอย่างนั้นไม่ได้เลย และทุกย่างก้าวของทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครอยู่แห่งหนตำบลใด ซึ่งนำไปถึงมฤตยูได้ตกอยู่ในมือมฤตยู ทั้งที่ถุงใส่เงินแสนเงินล้านที่ไปปล้นจี้เขา ยังอยู่ในมือไม่ทันได้ใช้ ได้เก็บเข้าบัญชีสะสมเพื่อความปรารถนาของตน นักการเมืองไม่ว่าเล็ก ไม่ว่าใหญ่ ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูในขณะกำลังเหนื่อยกายเหนื่อยใจ ใช้หัวคิดทุมเทเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของตน ผู้ที่กำลังยิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุขกับครอบครัว เคี้ยวข้าวอยู่ในปากแท้ๆ ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ผู้เหิรฟ้าอยู่บนเครื่องบินใหญ่โตมโหราฬราวกับตึก ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูโดยไม่คาดคิด ผู้โดยสารเรือเดินสมุทรใหญ่ก็เคยตกอยู่ในมือมฤตยูพร้อมกันมากมายหลายสิบชีวิต นักไต่เขาผู้สามารถก็เคยหายสาบสูญ ในขณะกำลังไต่เขาโดยตกเข้าไปอยู่ในมือมฤตยู ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนสัจจะแห่งพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นแสดงแล้วทั้งสิ้น ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา คือผู้มีปัญญา ท่านจึงสอนให้เร่งอบรมมรณสติ คือนึกถึงความตาย หัดตายก่อนตายจริง จุดมุ่งหมายสำคัญของการหัดตาย ก็คือปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลายก่อนที่จะถูกความตายบังคับให้ปล่อยกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งทั้งปวง หัดใจให้ปล่อยเสียพร้อมกับหัดตาย ซึ่งเป็นเหตุให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ให้เกิดตัณหาอุปาทาน หัดละเสีย ปล่อยเสีย พร้อมกับหัดตายซึ่งจะมาถึงเราทุกคนเข้าจริงทุกวินาที บางทีจะมีปัญหาว่าจะมีคุณพิเศษอย่างใด หรือที่จะควรละ หรือเพียงหัดละความโกรธ ความหลง ตัณหาอุปาทานตั้งแต่ก่อนตาย

จะไม่พูดถึงจุดประสงค์สูงสุดในพระพุทธศาสนา คือมรรคผลนิพพานอันจะเกิดได้เพราะการละกิเลสสำคัญ ๓ กองเท่านั้น แต่จะพูดถึงผลได้ผลเสียธรรมดาๆ ที่แม้จะพิจารณาสมควรก็จะเข้าใจ อันความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหาอุปาทานนั้น บางครั้งบางคราวก็ทำให้ผู้ยังมีชวิตอยู่ทั้งหลาย ได้รับวัตถุตอบสนองสมปรารถนา เช่นผู้มีความโลภอยากได้ทรัพย์สินข้าวของเงินทองของผู้อื่น บางครั้งบางคราวก็อาจขอเขา โกงเขาและขโมยเขา โลภอยากได้ของตนสมปรารถนา หรือผู้มีความโกรธ อยากว่าเขา อยากทำร้ายเขา บางครั้งบางคราวก็อาจทำได้สำเร็จสมใจ แต่ถ้าตกอยู่ในมือมฤตยูแล้ว เป็นคนตายแล้ว แม้ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหาอุปาทานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตใจ ผู้ที่ตายแล้ว จะไม่สามารถใช้กิเลสกองหนึ่งกองใดให้เกิดผลสนองความต้องการได้เลย ผู้ตายแล้วที่มีความโลภก็ไม่อาจขอเขา ลักเขา หรือผู้ที่ตายแล้ว ที่มีความโกรธ ก็ไม่อาจจะว่าเขา ทำร้ายร่างกายเขาได้

กล่าวได้ว่าแม้ใจของผู้ที่ตายแล้ว จะยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหาอุปาทานอยู่มากมายเพียงไร ก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดผลดีอันเป็นคุณแก่ตนหรือแก่ผู้ใดได้เลย มีแต่ผลร้ายอันเป็นโทษสถานเดียว ทีเดียว

ปัญหาสืบเนื่องว่า ไฉนเมื่อกิเลสเป็นคุณแก่ผู้ตายแล้วไม่ได้จึงจะเป็นโทษแก่ผู้ตายได้นั้น มีคำเฉลยได้ดังนี้ เมื่อลมหายใจออกจากร่างกายไม่กลับเข้าอีกแล้ว สิ่งที่เป็นนาม แลไม่เห็นด้วยสายตา เช่นเดียวกับลมหายใจ คือจิตก็จะออกจากร่างนั้นด้วย จิตจะออกจากร่างโดยคงสภาพเดิม คือพร้อมด้วยกิเลสเศร้าหมองทั้งปวงที่มีอยู่ในจิตขณะที่ยังคงอยู่ในร่าง คือยังเป็นจิตของคนเป็น ของคนยังไม่ตาย พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า ผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้ กิเลสทั้งปวงเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต จิตที่มีกิเลสเป็นจิตที่เศร้าหมอง กิเลสมาก จิตก็เศร้าหมองมาก กิเลสน้อยจิตก็เศร้าหมองน้อย จิตที่มีกิเลสเศร้าหมองเมื่อละจากร่างไปสู่ภพภูมิใดก็จะคงกิเลสนั้นอยู่ คงความเศร้าหมองนั้นไว้ ภพภูมิที่ไปจึงเป็นทุคติ คติที่ชั่ว ที่ไม่ดี มาก น้อย เบา ตามกิเลส ตามความเศร้าหมองของจิต

อันคำว่า “จิตเศร้าหมอง” ที่ท่านใช้ในที่นี้มิได้หมายความว่า เป็นจิตที่หดหู่อยู่ด้วยความเศร้าโศกเสียใจเท่านั้น แต่จิตที่เศร้าหมอง หมายถึงจิตที่ไม่บริสุทธิ์ผ่องใส ผ่องแพ่ว คือเศร้าหมองด้วยกิเลสดังเกล่าแล้วว่า จิตมีกิเลสมาก ก็เศร้าหมองมาก จิตมีกิเลสน้อย ก็เศร้าหมองน้อย อันกิเลสกองหลงคือความรู้สึกที่ไม่ถูก ความรู้สึกที่ไม่ควร คนมีโมหะคือคนหลง ผู้มีความรู้สึกที่ไม่ถูก ไม่ต้อง ไม่ควรทั้งหลาย คือคนมีโมหะ คือคนหลง เช่นหลงตน หลงคน หลงอำนาจเป็นต้น คนหลงตนเป็นคนมีโมหะ มีความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบไม่ควรในตนเอง คนหลงตนจะมีความรู้สึกว่า ตนเป็นคนผู้ที่มีความสามารถ ความวิเศษเกินคนทั้งหลาย เหนือใครทั้งหลาย เกินความจริง ซึ่งเป็นความรู้สึกในตนที่ไม่ถูก ไม่ควร ไม่ชอบ เมื่อมีความรู้สึกอันนี้เป็นโมหะ คือความหลง โลภะ และโทสะก็จะเกิดตามมาได้โดยไม่ยาก เมื่อหลงตนว่าดีวิเศษแล้วและเหนือคนทั้งหลาย ความโลภซึ่งให้ได้มาซึ่งสิ่งอันสมควรแก่ความดี ความวิเศษย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ความโกรธด้วย ไม่ต้องการให้ความดีความวิเศษนั้นถูกเปลี่ยนหรือถูกลบล้าง ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา อย่างนี้ก็หมายความว่า คนหลงตนเป็นคนมีโมหะ มีความรู้สึกที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควรในคนทั้งหลาย คนหลงตนจะมีความรู้สึกว่า คนนั้นคนนี้ที่ตนหลงมีความสำคัญ มีความดี ความวิเศษเหนือคนอื่นเกินความจริง ซึ่งเป็นความรู้สึกในคนนั้นๆ ที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควร เมื่อมีความรู้สึกอันเป็นโมหะ โลภะและโทสะ ก็จะเกิดตามมาได้โดยไม่ยาก เมื่อหลงคนใดคนหนึ่งว่ามีความสำคัญ ความดีความวิเศษเหนือคนอื่น ความรู้สึกมุ่งหวังเกี่ยวกับคนใดคนหนึ่งนั้น เป็นโลภะ และเมื่อมีความหวัง ต้องมีได้ทั้งความหวังและความผิดหวังได้เป็นธรรมดา ความรู้สึกผิดหวังนั้นเป็นโทสะ หรือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความหลงคือหลงกล คนหลงอำนาจเป็นคนมีโมหะ มีความรู้ที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควรในอำนาจที่ตนมี คนหลงอำนาจจะมีความรู้สึกว่า อำนาจที่ตนมีอยู่นั้นยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด เหนืออำนาจทั้งหลายเกินความจริง ซึ่งความรู้สึกที่ไม่ถูก ไม่ควร ไม่ชอบ เมื่อมีความรู้สึกนี้อันเป็น โมหะ โลภะและโทสะ ก็จะเกิดตามมาโดยไม่ยาก

เมื่อหลงอำนาจของตนว่ายิ่งใหญ่เหนืออำนาจทั้งหลาย ย่อมเกิดความเหิมเห่อทะเยอทะยานในการใช้อำนาจนั้นให้เกิดผลเสริมอำนาจของตนยิ่ง ๆ ขึ้น ความรู้สึกนี้จัดเป็นโลภะได้และแม้จะไม่เป็นไปดังความเหิมเห่อทะเยอทะยาน ความผิดหวังนั้นจะเป็นโทสะ นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของความหลง คือหลงอำนาจ ผู้มีโมหะมาก คือมีความหลงมากมีความรู้สึกที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควรในตน ในคน ในอำนาจมาก ย่อมปฏิบัติผิดได้มาก ก่อทุกข์ โทษ ภัยให้เกิดได้มากทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งแก่ส่วนน้อยและส่วนใหญ่ รวมถึงแก่ประเทศชาติ ศาสนา มหากษัตริย์ พระพุทธดำรัสที่ว่าผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติ เป็นอันหวังได้นั้น มีตัวอย่างที่จะยกขึ้นประกอบการพิจารณาให้เข้าใจพอสมควรดังนี้ บุคคลผู้มีโมหะมาก หลงตนมาก จัดเป็นพวกมีกิเลสมาก จิตเศร้าหมองมาก จะเป็นผู้ขาดความอ่อนน้อมแม้แต่ต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อมเป็นอย่างยิ่ง บุคคลเหล่านี้ละโลกนี้ไปในขณะที่ยังมาได้ละกิเลสคือโมหะให้น้อย จิตย่อมเศร้าหมอง ย่อมไปสู่ทุคติ ทุคติของผู้หลงตนจนไม่มีความอ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อมอย่างยิ่ง คือจะเกิดในตระกูลต่ำ ตรงกันข้ามกับผู้รู้จักกอ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อมอย่างยิ่ง ที่จะไปสู่สุขคติ คือจะไปเกิดในตระกูลที่สูง

นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ชัดแจ้งเกี่ยวกับกรรมและการให้ผลของกรรม ผู้ใดทำกรรมใดไว้ จะได้รับผลของกรรมนั้น ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว ทำเช่นใดจักได้เช่นนั้น ความไม่อ่อนน้อมต่อผู้ควรได้รับความอ่อนน้อมเป็นกรรมไม่ดี การเกิดในตระกูลที่ต่ำเป็นผลของกรรมไม่ดี เป็นผลที่ตรงตามเหตุแท้จริง ผู้ที่เกิดในตระกูลต่ำปกติย่อมไม่ได้รับความอ่อนนน้อมจากผู้อื่น จากคนทั้งหลาย ส่วนผู้ที่เกิดในตระกูลสูง ปกติ ย่อมได้รับความอ่อนน้อม ความอ่อนน้อมที่ผู้เกิดในตระกูลสูงมีปกติได้รับนั้นเป็นผลที่เกิดจากเหตุอันเป็นกรรมดี ความอ่อนน้อมที่กล่าวมาแล้วเป็นการยืนยันว่า ผู้มีปัญญาควรปฏิบัติตามคำแนะนำของปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา หัดตายก่อนที่จะตายจริง หัดปล่อยใจจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ พร้อมกับการหัดตายก่อนที่จะถูกความตายมาบังคับให้เป็นไป

การหัดตายที่ปราชญ์ในพระพุทธศาสนาท่านแนะนำ คือการฝึกอบรมความคิด สมมุติว่าตนเองในขณะนั้นปราศจากชีวิตแล้ว ตายแล้ว เช่นเดียวกับผู้ที่ตายแล้วจริง ๆ ทั้งหลาย คิดให้เห็นชัดในขณะนั้นว่า เมื่อตายแล้วตนจะมีสภาพอย่างไร ร่างที่เคยเครื่อนไหวได้ ก็จะทอดนิ่ง อย่าว่าแต่จะลุกไปเก็บรวบรวมเงินทอง ข้าวของที่อุตส่าห์สะสมไว้เพื่อนำไปด้วยเลย จะเขยิบให้พ้นแดด พ้นมดสักนิ้ว สักคืบก็ทำไม่ได้ หมดลมที่ตรงไหนก็จะเคลื่อนพ้นจากที่ตรงนั้นไปด้วยตนเองไม่ได้ เมื่อมีผู้มายกไปไหน นำไปที่ ๆ เขากำหนดว่าเหมาะว่าควร ก็ไม่อาจขัดขืนโต้แย้งได้ แม้บ้านอันเป็นที่รักที่หวงแหนเขาก็ไม่ให้อยู่ จะยกไปวัด เคยนอนบนฟูก บนเตียงในห้องกว้าง ประตูหน้าต่างเปิดโปร่ง เขาก็จะจับลงไปในโลงศพที่แคบอับทึบ ไม่มีประตู ไม่มีหน้าต่าง ตีตะปูติดสนิทแน่นไม่ให้มีแม้แต่ช่องลมและอากาศ จะร้องก็ไม่ดัง จะประท้วงหรืออ้อนวอนก็ไม่สำเร็จ ไม่มีใครสนใจ สามี ภรรยา มารดา บิดา บุตร ธิดา ญาติมิตรสนิดทั้งหลายที่เคยรักห่วงใยกันนักหนา ก็ไม่มีใครมาอยู่ด้วยแม้สักคน อย่าว่าแต่จะเข้าไปนั่งไปนอนในโลงศพด้วยเลย แม้จะนั่งเฝ้าอยู่ข้างโลงทั้งวันทั้งคืน ก็ยังไม่มีใครยอม บ้านใครเรือนใครก็พากันกลับหมด ทิ้งไว้แต่ลำพังในวัดที่อ้างว้าง มีศาลาตั้งศพ มีเมรุเผาศพ มีเชิงตะกอนที่ศพที่เผาเป็นเถ้าถ่านแล้วบ้าง ยังไม่ได้เผาบ้าง มากมายหลายศพ ทีนี้เมื่อยังไม่ตาย เราเคยกลัวเคยรังเกียจ แต่เมื่อเราตายเราก็หนีไม่พ้น เรามีอะไรหรือในขณะนั้น เราไม่มีอะไรเลย มือเปล่าเกลี้ยงเกลาไปทั้งเนื้อทั้งตัว เงินสักบาท ทองสักเท่าหนวดกุ้งก็ไม่มีติดมีแต่ตัวแท้ ๆ เพราะไม่ได้แต่งเครื่องทองของมีค่า หรือมอบกระเป๋าใส่เงินทองให้เลย อย่างดีก็มีเพียงเสื้อผ้าที่เขาเลือกสรวมใส่แต่งให้ศพไปเท่านั้นซึ่งไม่กี่วันก็ชุ่มเลือด ชุ่มน้ำหนองที่ไหลจากตัว มีใครเล่าจะมาเปลี่ยนชุดใหม่ให้ทั้ง ๆ ที่สะสมไว้มากมายหลายชุดที่ล้วนชอบอกชอบใจว่าสวย ว่างาม โอกาสที่จะได้ใช้เงิน ใช้เสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องเพร็ชร เครื่องทองเหล่านั้นสิ้นสุดลงแล้วพร้อมกับลมหายใจ พร้อมทั้งชีวิตที่สิ้นสุดนั้นเอง ไม่คุ้มกันเลยกับความเหนื่อยยากที่แสวงหามาสะสมโดยไม่ถูก ไม่ชอบด้วยประการทั้งปวง ที่เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นการเบียดเบียนก่อทุกข์ก่อภัยให้ผู้อื่น หัดถือร่างกายของตนเองที่ตายไปแล้วขึ้นอืดอยู่ในโลง เริ่มปริ เริ่มแตก น้ำหนอง เลือดไหลออก ทุกขุมขน เส้นผมเปียกแฉะด้วยเลือดด้วยหนอง ลิ้นที่เคยอยู่ในปากเรียบร้อยก็หลุดออกมาจุก นัยน์ตา ถลนถะเหลือกลาน รูปร่างหน้าตาของตนเองขณะนั้น อย่าแต่จะให้ใครอื่นจำได้เลย แม้ตัวเองก็จำไม่ได้ อย่าแต่จะให้ใครอื่นไม่รังเกียจสะดุ้งกลัวเลย แม้แต่ตัวเอง ก็ยังยากที่จะข้ามความรู้สึกนั้น ผิวพรรณที่อุสาหะพยายามถนุถนอมรักษาให้งดงามเจริญตาเจริญใจ ด้วยหยูกยาเครื่องอบ เครื่องลูบไล้ ถนอม รักษาหวงแหน ถนุบำรุงร่างกายของตนไว้ได้ แม้สมบัติพัสถาน ที่แสวงหาไว้ระหว่างมีชีวิต จนเต็มสติปัญญาความสามารถ ด้วยเลห์ ด้วยกล ก็ตาม เพื่อใช้ถนุถนอม รักษาเชิดชูบำรุงร่างกายของตนก็ติดกับร่างไปไม่ได้เลย

เป็นจริงดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้ ให้ความสุข ความสมบูรณ์ สะดวกสบาย ความปกป้องคุ้มกันร่างกายของคนตายไม่ได้ต้องปล่อยให้ร่างนั้น ผุพังเน่าเปื่อยคืนสู่สภาพเดิม เป็นดิน น้ำไ ฟ ลมประจำโลกต่อไป ต้องตามพุทธศาสนสุภาษิตไว้ว่า สัตว์ทั้งปวงจะทอดทิ้งร่างไว้ในโลก ผู้มีความเข้าใจว่า ตายแล้วไปเกิดเป็นอะไร สุข ทุกข์อย่างไร เราไม่รับรู้ด้วยแล้วจึงไม่มีความหมาย นี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เป็นโมหะสำคัญ ก็ที่เราเกิดเป็นนั่น เป็นนี่กันในชาตินี้ ทำไมเราจึงรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ทั้ง ๆ ที่เรามารู้ว่าเกี่ยวข้องกับชาติก่อนอย่างไร พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีชาติในอดีตและชาติในอนาคต เชื่อว่าก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ ได้เคยเกิดชาติอื่นมาแล้ว และจะต้องเกิดในชาติหน้าต่อไปอีกไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ถ้ายังทำกิเลสให้สิ้นไปไม่ได้ แต่ทั้งที่เชื่อเช่นนี้ ก็ยังมีเป็นอันมาก ที่มีโมหะ หลงเข้าใจผิดอย่างยิ่งดังกล่าวแล้วว่า จบสิ้นความเป็นคนในชาตินี้แล้ว เราก็จะไม่รู้เรื่อง รู้ราวเกี่ยวกับชาติต่อไป เพราะฉะนั้น ข้อที่สำคัญที่จะต้องแสวงหาความสุขสมบูรณ์ให้ตัวเองให้เต็มที่ในชาตินี้ ผู้ใดมีโมหะหลงคิดผิดเช่นนี้ ผู้นั้นก็จะสามารถทำความผิดร้ายได้ทุกอย่างเพื่อประโยชน์ตน ทรยศคดโกง เบียดเบียนกำไรเขาแม้กระทั่งถึงชีวิตก็ทำได้ เป็นการสร้างกรรมที่จะให้ผลแก่ตนเองแน่นอน ตนจะต้องเสวยผล เสวยทุกขเวทนา ทั้งในโลกนี้ และเมื่อละโลกนี้ไปแล้วตามกรรมของตน ต้องตามพุทธสุภาษิตว่า กรรมของตนเองย่อมนำไปสู่ทุคติ กล่าวต่อว่า ชีวิตนี้น้อยนัก พึงมีปัญญาขยายความนี้ให้ดีกว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ชีวิตนี้น้อยนัก คือชีวิตในชาตินี้น้อยนัก ชีวิตในชาติข้างหน้ายาวนานมิอาจประมาณได้ ฉะนั้น แม้รักตนจริง ก็ควรรักให้ตลอดไปถึงชีวิตชาติหน้าข้างหน้าด้วย ไม่ใช่จะคิดเพียงสั้น ๆ รักแต่ชีวิตนี้เท่านั้น หาความสมบูรณ์พูนสุขให้ชีวิตนี้ในขอบเขตที่ถูกทำนองคลองธรรมเถิด ผลแห่งกรรมทั้งในชาตินี้และชาติหน้าต่อ ๆไปที่จะต้องเสวยจะได้ ไม่เป็นผลร้าย ไม่เป็นผลของบาปกรรม ชีวิตเรา เรารัก ชีวิตเขา เขาก็รัก ความตายเรากลัว ความตายเขาก็กลัว ของ ๆ ใคร ๆหวง ของเรา เราหวง ของ ๆเขา เขาก็หวง จะลัก จะโกง จะฆ่า จะทำร้ายใครสักคนขอให้นึกกลับกันเสียให้เห็นเขาเป็นเรา ให้เห็นเราเป็นเขา คือเขาเป็นผู้ที่จะลักจะโกง จะฆ่า จะทำร้ายเรา เราเป็นเขาผู้ที่จะถูกลัก ถูกโกง ถูกฆ่า ถูกทำร้าย ลองนึกเช่นนี้ให้เห็นชัดเจน แล้วดูความรู้สึกของเรา จะเห็นว่าที่เต็มไปด้วยโมหะนั้น จะเปลี่ยนเป็นเมตตากรุณาอย่างลึกซึ้ง ข่าวครูพยายามป้องกันสมบัติของตนจนเสียชีวิตนั้น น่าสลดสังเวชยิ่งนัก หรือข่าวแม้ผู้ที่กำลังสิ้นชีวิตแล้ว แต่พยายามกระเสือกกระสน พยายามที่จะรักษาสมบัติของตนที่ติดตัวอยู่ ก็น่าสงสารอย่างที่สุด พบข่าวนี้เมื่อไร ขอให้นึกถึงใจคนเหล่านั้น อย่าคิดทำร้าย อย่าคิดเบียดเบียนกันเลย ทุกคนจะต้องตาย และจะตายในเวลาไม่นาน คนไม่ได้อายุยืนเพราะทรัพย์ จะทำทุกวิถีทางแม้จะชั่วช้าโหดร้าย เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ทำไมเล่า ความโลภโดยไม่มีขอบเขตนั้นเป็นทุกข์หนักนัก ตนเองทุกข์เพราะความอยากได้แล้ว ก็แผ่ความทุกข์ ความเดือดร้อนไปถึงคนอื่นอย่างน่าอะเน็จอะหนาจ ขอแนะนำว่า ถ้าทุกข์ ถ้าร้อนเพราะความอยากได้ไม่สิ้นสุดจะไม่สามารถดับความทุกข์นั้นได้ด้วยวิธีลักขโมย คดโกงหรือประหัดประหารผู้ใด แต่จะดับทุกข์นั้นได้โดยทำกิเลสให้หมดจดเท่านั้นแล

ขออำนวยพร

  •  

ธรรมะเตือนใจเนื่องในงานศพ

โดย
ปัญญานันทภิกขุ

เรามักจะเข้าใจกันว่า พระสวดศพหรือสวดผี คนที่สุภาพก็เรียกว่าพระสวดศพ แต่ถ้าเป็นคนที่จะไม่ค่อยสุภาพเรียบร้อย ก็มักจะเรียกว่า พระสวดผี พูดทั้งสองอย่างมันก็ไม่ถูกทั้งนั้น คือพระไม่ได้สวดศพ สวดผีอะไร คนตายแล้วไม่ต้องสวดก็ได้ แต่ว่าที่สวดกันอย่างนั้น เป็นเรื่องสวดให้คนเป็นฟัง ไม่ได้สวดให้คนตายฟัง แม้ว่าเวลาพระจะให้ศีล พระจะเริ่มสวดก็จะมีคนไปเคาะข้างโลง เคาะบอกให้ลุกขึ้นรับศีล ให้ลุกขึ้นฟังสวด เคาะอย่างนี้ ไม่ได้เคาะให้ศพในโลงลุกขึ้น แต่ว่าเขาเคาะเพื่อเตือนคนเป็น ให้เกิดความรู้สึกสำนึกตัว ให้รู้สึกว่า ดูเถอะ ตายแล้วลุกขึ้นรับศีลก็ไม่ได้ ทำบุญก็ไม่ได้ เอาอาหารมาวางมาวางที่ข้างโลงก็กินไม่ได้ ทำบาปก็ไม่ได้ ทำบุญก็ไม่ได้ เรื่องการกระทำทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นเรื่องทำเสียก่อนตาย ความชั่วนั้นไม่พึงกระทำนัก แต่คนมันก็หลงทำกันอยู่ ตามสมควรแก่ความโง่เขลา

ความจริงนั้น การกระทำทั้งหลายต้องทำเมื่อยังมีชีวิตอยู่ แต่ว่าทำไมจึงได้นิมนต์พระมาสวดในงานศพ เรื่องมันเป็นอย่างนี้คือว่า

สมัยก่อนนี้ เวลามีใครตายขึ้นในบ้านเรือนใครก็ตาม พระท่านสงสารคนที่ยังเป็นอยู่ คนตายแล้วไม่ต้องสงสารอะไรตายแล้วก็แล้วกันไป พูดอะไรกันไม่รู้เรื่อง แต่ว่าคนยังเป็นอยู่มีความทุกข์ ความเสียดาย เพราะความรัก ความชอบใจกัน เช่นพ่อแม่รักลูก ลูกตายก็เสียใจ ภรรยารักสามี สามีตายก็เสียใจ ภรรยาตาย สามีก็เสียดายเสียใจ ลูกตายก็เสียดายเสียใจ อันนี้มันเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ยังมียึดมั่น ถือมั่นว่าสิ่งทั้ง หลายเป็นของเรา เมื่อสิ่งนั้นสูญเสียไปก็มีความเสียดาย พระท่านเห็นว่ามันเป็นความทุกข์ ในธรรมะของพระ พุทธศาสนาก็สอนไว้ว่า การพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์

ความตายเป็นเรื่องของธรรมชาติ

เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นในครอบครัวใด พระท่านก็ไปทำหน้าที่ปลอบโยนจิตใจคนในครอบครัวนั้น การไปปลอบโยนนั้นไม่ใช่ไปสวด แต่ว่าไปเทศน์ คือไปพูดธรรมะให้ฟัง การสวดกับการสอนนั้นมันคนละเรื่อง คือสวดนี่คือสวดสิ่งที่คนฟังไม่รู้เรื่อง เค้าเรียกว่าสวดกัน แต่สอนนั้นคือพูดสิ่งที่คนฟังรู้เรื่อง แต่เราพูดในภาษาวัดว่า แสดงธรรม หรือว่าเทศนา หรือว่าปาฐกถา ก็เรื่องพูดให้คนฟังทั้งนั้น พูดเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องอะไรต่างๆ ให้รู้จักเห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง ความทุกข์ที่กลุ้มรุมอยู่ในจิตใจนั้นก็จะผ่อนคลาย เพราะมารู้ว่า ความตายนั้นเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าอะไรจะเป็นคนเป็นสัตว์เป็นต้นไม้หรือเป็นวัตถุสิ่งของที่เราประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้น มันก็ต้องแตก ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าคนเราไม่ค่อยจะได้คิดถึงเรื่องความแตกดับ เราคิดถึงแต่เรื่องของเราอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความตายเกิดขึ้น เราก็กลับตัวไม่ทันเพราะไม่ได้คิดไว้ก่อนว่า เราจะตายหรือคนนั้นจะตาย คนนี้จะตาย ก็เกิดความเสียใจอาลัยอาวรณ์กัน

ชีวิตเดินไปสู่ความตาย

เป็นเรื่องธรรมดา คนเกิดมาก็ต้องตายทั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินก็สวรรคต คนมั่งมีก็ตาย คนจนก็ตาย ท่านเปรียบเหมือนกับภาชนะดินที่ช่างหม้อกระทำแล้ว สุกบ้าง ดิบบ้างนั้นก็แตกทั้งนั้นแม้จะยั่งยืนเหมือนกับหม้อบ้านเชียง แต่มันก็แตกเหมือนกัน ที่บ้านเชียงนี้เค้าเก็บหม้อแตกได้เยอะแยะ ที่ไม่แตกมันก็ฝังดินอยู่ แต่ถ้าขุดไม่เป็นมันก็แตกหมด คนขุดมันก็มีศีลปะในการขุดจึงจะได้ แสดงให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายต้องมีอันแตกดับเป็นธรรมดา พระท่านพูดให้ฟัง เพื่อกล่อมเกลาจิตใจคนให้คลายจากความทุกข์ ความเดือดร้อนทางใจ อันนี้เป็นเรื่องเก่า เป็นเรื่องที่พระท่านกระทำกันมาตั้งแต่โบราณ แต่ว่าในสมัยหลังๆ พูดไปแล้วก็พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าพระเรานี่มีความรู้น้อย ไม่สามารถจะแสดงธรรมให้ญาติโยมทั้งหลายฟัง เมื่อไม่สามารถจะแสดงธรรมให้ฟัง ก็เลยไปสวดให้ฟัง ความจริง คำที่สวดนั้นก็เป็นคำเตือนใจ เป็นคำสอนที่ให้รู้ความจริงของชีวิตทั้งนั้นแหละ แต่ว่าญาติโยมไม่ได้เรียนภาษาบาลี ฟังไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจความหมาย ก็ฟังไปอย่างนั้นเอง เลยไม่ได้ความรู้ ความเข้าใจอะไร จะว่าไม่ได้เสียเลยก็ไม่ถูกนัก ก็ได้บ้างคือเพียงชั้นบุญไม่ถึงขั้นที่เป็นกุศล

บุญและกุศลต่างกันอย่างไร

บุญกับกุศลนี้พูดไปแล้ว ก็อยากจะอธิบายให้ญาติโยมเข้าใจมันไม่เหมือนกันคือ บุญนั้นมันเป็นเรื่องความอิ่มใจสบายใจ ในเมื่อเราได้ทำอะไรถูกต้องประเพณีตามพิธีต่างๆ ที่เราได้เคยกระทำกันมา ทำแล้วสบายใจ เช่น เมื่อมีญาติมิตรเพื่อนพ้องตาย เราก็มาพบกัน มาแล้วก็นิมนต์พระมาสวด ก็ดีใจ สบายใจ สบายใจว่าได้สวดให้กันแล้ว หรือว่าใครรู้จักมักจี่ ก็มาทำพิธีนิมนต์พระสวด ก็ได้ความอิ่มใจอย่างนั้น อันนี้เขาเรียกว่าได้บุญ แต่มันไม่ถึงขั้นที่เป็นกุศล

กุศลนั้นคืออะไร กุศลคือ ตัวปัญญา ตัวความรู้ ตัวความเข้าใจ ถ้าเปรียบเป็นวัตถุ ก็เหมือนกับว่าแสงสว่าง ตัวกุศลเรียกเป็นแสงสว่าง เมื่อเกิดขึ้นในใจแล้วมันทำให้สว่างขึ้นมา ความมืดหายไป ความหลงผิด ความเข้าใจผิด ความเชื่อที่งมงายทั้งหลายทั้งปวงหายไป เพราะอำนาจกุศล

กุศลกับบุญนี่ใครใหญ่กว่ากัน ก็กุศลน่ะมันใหญ่กว่าบุญ บุญเล็ก เพราะว่า ถ้าเราทำอะไรเอาแต่บุญนี่ กุศลจะไม่เกิดเลย แต่ถ้าเราทำอะไรให้เป็นกุศลบุญก็เกิดด้วย ยกตัวอย่างเช่นว่าเราฟังสวดพระอภิธรรมเหมือนกับสวดๆกันอยู่ทั่วๆไปนั้น เราไม่ได้เกิดปัญญาเลย ไม่ได้ความเข้าใจอะไรว่าพระท่านสวดเรื่องอะไร อย่างนี้เค้าเรียกว่าเพียงชั้นบุญ ไม่ถึงขั้นที่เป็นกุศล แต่ถ้าเรามาฟังพระพูดภาษาไทยเรารู้เราเข้าใจในเรื่องนั้น เรียกว่าเราได้กุศล เมื่อได้กุศลเราก็อิ่มใจด้วย สบายใจด้วย มันเกิดตามมา กุศลเกิดแล้วบุญก็เกิด แต่ถ้าบุญเกิดบางทีกุศลไม่เกิดด้วย มันต่างกันอย่างนี้

  •  

คอควาย คอฅน

    คำว่าคน แปลว่าวน เหมือนคนแป้ง

คนให้แห้ง หรือให้เปียก ก็เรียกได้

เกิดเป็นคน แล้วต้องวน คนกันไป

ไม่มีใคร ที่จะพ้น คนได้เลย

    คนที่พ้น วนได้ หมายถึงพระ

ท่านเลิกละ วนวัง ตั้งอยู่เฉย

คือพ้นวัง ห่างวน พ้นไปเลย

น่าชมเชย สุขที่สุด เพราะหยุดวน (ธรรมสาธก)

    เป็นมนุษย์ เป็นได้เพราะ ใจสูง

เหมือนดังยูง มีดี ที่แววขน

ถ้าใจต่ำ ก็เป็นได้ แต่เพียงคน

ย่อมเสียที ที่ตน ได้เกิดมา

    ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ

ถ้ามีครบ ควรเรียก มนุสสา

เพราะพูดถูก ทำถูก ทุกเวลา

เปรมปรีดา คืนวัน สุขสันต์จริง

    ใจสกปรก มืดมัว หรือร้อนเร่า

มีใครเข้า ควรเรียก ว่าผีสิง

เพราะพูดผิด ทำผิด จิตประวิง

แต่ในสิ่ง ทำตัว กลัวอบาย

    คิดดูเถอะ ถ้าใคร ไม่อยากตก

จงรีบยก ใจตน รีบขวนขวาย

ให้ใจสูง เสียได้ ก่อนตัวตาย

ก็สมหมาย ที่เกิดมา อย่าเชือนเอย (พุทธทาส)

ดูก่อนคอควายและฅอฅน ทั้งหลาย ขอให้พากันตั้งใจฟังเรื่องของควาย และเรื่องของฅนต่อไป จะได้รู้และเข้าใจกันว่า ควายคืออะไร และคนคืออะไร ถ้าหากควายตั้งใจฟังก็มีหวังว่าควายจะได้กลายเป็น ฅน ถ้าคนตั้งใจฟังก็มีหวังว่าคนจะได้กลายเป็นมนุษย์ ผู้มีใจสูง

คำว่าควายในพจนานุกรมภาษาไทย ได้ให้คำนิยามไว้ว่า ควายเป็นสัตว์ สี่เท้า มีเขาโค้งยาว ฯลฯ โดยปริยายมักหมายความว่า คนโง่ คนเซ่อ หรือคนตัวใหญ่แต่ไม่ฉลาด นี่คือความหมายของคำว่า ควาย ตามความหมายในพจนานุกรมภาษาไทย ส่วนคำว่า คน นั้น ในพจนานุกรมภาษาไทย ให้คำนิยามไว้ว่า ถ้าเป็น นาม หมายถึง มนุษย์ ถ้าเป็นกริยา หมายถึงการใช้มือ หรือสิ่งอื่นกวน หรือคน เพื่อทำให้สิ่งที่นอนก้น เช่นตะกอนที่เกาะกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนให้กระจักกระจาย หรือขยายตัว หรือกวนหรือคนสิ่งต่างๆให้เข้ากันได้ดีเช่นคนแกง คนขนมเป็นต้น นี่คือเรื่องของควาย และเรื่องของ คน ตามที่นักปราชญ์ท่านผู้รู้มีความชำนาญในด้านภาษาศาสตร์ของไทยท่านให้ความหมายเอาไว้ ดูก่อน ควาย และ ฅน ทั้งหลาย พากันฟังเรื่องของตนกันแล้วก็คงจะเข้าใจกันได้ว่าอะไรเป็น ควาย อะไรเป็น ฅน

ท่านผู้อ่านและท่านผู้ฟังทั้งหลาย ประเด็นต่อไปขอนำท่านทั้งหลายไปศึกษาหาความรู้ตามหัวข้อที่ตั้งไว้เป็น อุเทศ ว่า คอควาย-คอฅน กันต่อไป ควายคืออะไร คนคืออะไร ท่านทั้งหลายได้รับทราบกันแล้ว ตามที่นำมาอธิบายไว้ข้างต้นนั้นท่านผู้รู้ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นได้กล่าวไว้ว่า

อาหานิทฺทา ภยเมถุนญฺจ สามญฺญเมตฺตปฺปสุภินรานํ

การกินอาหารก็ดี การพักผ่อนหลับนอนก็ดี การขี้ขลาด รู้จักหนีภัยก็ดี และการประกอบเมถุนธรรมก็ดี สี่อย่างนี้มีเสมอกัน คือเท่ากันระหว่างสัตว์กับคน

ธมฺโม หิ เตสํ อธิโก วิเสโส

ธรรมเท่านั้นที่ทำให้เกิดความผิดแปลกแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ ถ้ามีธรรมก็เป็นคน ถ้าไม่มีธรรมก็เป็นสัตว์

ธมฺเมน ปหีนา ปสุภิสมานา

ครั้นปราศจากธรรมเสียแล้วคนกับสัตว์ก็เข้าถึงความเสมอกัน คือคนกับสัตว์ก็เท่ากัน ถ้าเอาธรรมเข้า คนกับสัตว์ก็ต่างกัน ถ้าเอาธรรมออก คนกับสัตว์ก็เหมือนกัน ไม่มีฝ่ายไหนเหนือกว่ากัน

คนกับสัตว์ สัตว์กับคน คอควาย กับคอฅน ที่สมมุติเรียกกันนั้นมันต่างกันอยู่ที่ ธรรมะ คือถ้ามีธรรมก็เรียกกันว่า คอฅน ถ้าไม่มีธรรมะก็เรียกกันว่า คอควาย มีธรรมเป็นคน ไม่มีธรรมเป็นควาย คอคนเรานี้แหละ ถ้าจิตใจไม่มีธรรม จิตใจปราศจากธรรม ก็ไม่แตกต่างอะไรกับคอควาย นั้นเอง คือร่างกายเป็นคอฅน แต่จิตใจเป็น คอควาย ดังที่ท่านกล่าวว่า มนุสสติรัจฉาโน มนุษย์ – คนเหมือนกับสัตว์ดิรัจฉาน คอควาย คือร่างกายเป็นคน เป็นมนุษย์ แต่จิตใจเป็นสัตว์ คอควาย ด้วยเหตุนี้ หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เรามีชีวิตอยู่คู่กับธรรม ธรรมะคู่กับชีวิต- ชีวิตคู่กับธรรมะ บุคคลใดครองชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ มีธรรมะคู่ชีวิต บุคคลนั้นก็ครองความเป็น คอฅน หรือเป็นมนุษย์ ตลอดกาล ถ้าชีวิตปราศจากธรรมะเมื่อไร ก็กลายเป็น คอควาย ทันที ทันควัน

คัดลอกและตัดตอนมาจาก พรธรรมปีใหม่

"หลวงตาชี"