ท่านเจ้าพระคุณพระโพธิญาณเถร (ท่านพระอาจารย์ชา สุภัทโท) ถือกำเนิดในจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๑ ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย มีพี่น้อง ๑๐ คน เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น อายุ ๑๓ ปีท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ มีพระครู วิจิตรธรรมภาษี (พวง) เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ และเมื่ออายยุได้ยี่สิบปีก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัด บ้านก่อใน จังหวัด อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ที่วัดบ้านก่อใน จังหวัดอุบลราชธานี
ในระยะเริ่มแรกของการเป็นพระภิกษุนั้น ท่านอาจารย์ชา สนใจและใฝ่ใจในการศึกษาหาความรู้ด้านปริยัติอยู่มาก ท่านศึกษาทั้งปริยัติธรรมและภาษาบาลี
ต่อมาท่านได้มาสนใจในธรรมปฏิบัติ ท่านได้ฝึกปฏิบัติกรรมฐานกับพระอาจารย์ทางด้านนี้หลายองค์ ซึ่งอยู่ทางภาคนี้ ท่านได้ธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ ตามแบบของพระป่า ผู้สันโดดเป็นเวลาหลายปี นอนในป่าบ้าง ในถ้ำบ้าง หรือตามป่าช้าบ้าง และครั้งหนึ่งได้มีโอกาสกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทางด้านวิปัสสนาธุระ และได้รับความเครพนับถือมากที่สุดในยุคนี้ ซึ่งแม้จะเป็นระยะเวลาอันสั้น แต่ท่านก็ได้รับความสว่างทางปัญญาอย่างยิ่ง ในการฟังธรรมะจากท่านพระอาจารย์มั่นในครั้งนั้น
หลังจากที่ได้ธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ และปฏิบัติกรรมฐานเป็นเวลาหลายปี ก็ได้มีผู้กราบเรียนนิมนต์ท่านให้พักที่ดงป่าพง ใกล้หมู่บ้านอันเป็นถิ่นกำเนิดของท่าน ในสมัยนั้นที่ป่าแห่งนี้ยังไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ เป็นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยของงูพิษร้าย เสือ และปีศาจ ซึ่งท่านพระอาจารย์เห็นว่า สถานที่เช่นนี้แหละเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับพระป่า ท่านจึงได้รับนิมนต์พักอยู่ ณ ที่ป่าพงนั้น
ต่อมามีพระสงฆ์ ชี และชาวบ้านมาฟังธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์มากขึ้นๆ ทุกที จึงไม่ช้า ณ ป่าพงแห่งนี้เองก็กลายเป็นวัดใหญ่ขึ้น
ปัจจุบันนี้ มีสานุศิษย์ของท่านอบรมธรรมแก่ผู้สนใจปฏิบัติอยู่ตามวัดสาขาต่างๆ กว่า เก้าสิบแห่ง วัดสาขาเหล่านั้น อยู่ตามภูเขาบ้าง ตามป่าบ้าง ทั่วประเทศไทยและขยายไปถึงประเทศอังกฤษ
บรรดาผู้ที่แวะไปเยี่ยมวัดหนองป่าพง ย่อมจะประทับใจในความสงบสงัดซึ่งมีอยู่ทั่วบริเวณวัดนั้น และเห็นป้ายติดไว้ที่ทางเข้าว่า "โปรดสงบ เรากำลังปฏิบัติกรรมฐาน" การปฏิบัติกรรมฐานร่วมกันมีวันละสองครั้ง และบางครั้งท่านพระอาจารย์ก็แสดงธรรมเทศนาด้วย การปฏิบัติกรรมฐานนั้นเป็นชีวิตประจำวันทีเดียว
พระสงฆ์ต่างทำงานด้วยตนเอง เย็บและย้อมสบงจีวรเอง และทำงานที่เกี่ยวเฉพาะตนอย่างอื่นๆ ตลอดจนการรักษากุฏิ เสนาสนะของวัด และปัดกวาดลานวัดให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ
พระสงฆ์ที่วัดนี้มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายแบบพระป่า ฉันอาหารมื้อเดียว และฉันในบาตร สบงจีวรและเครื่องใช้มีอยู่อย่างจำกัดกุฏิสงฆ์ตั้งอยู่ห่างๆ กันในราวป่าเพื่อให้ปฏิบัติภาวนาได้อย่างสงบ มีทางเดินตามใต้ต้นไม้สำหรับเดินจงกรม
ที่นี่ต้องรักษาระเบียบวินัยเคร่งครัดมาก เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตของพระกรรมฐานที่สันโดด เรียบง่ายอันเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติภาวนาให้เป็นไปด้วยดียิ่งขึ้น และเป็นการรักษาคุณธรรมความดีของหมู่คณะด้วย
วิธีการแสดงธรรมของท่านพระอาจารย์นั้นง่ายๆแต่ลึกซึ้ง จึงเป็นที่ประทับใจของชาวตะวันตกมาก มีชาวต่างประเทศมาศึกษาและปฏิบัติธรรมกับท่านเป็นจำนวนไม่น้อยมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว จนกระทั่งท่านได้สร้างวัดป่านานาชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ใกล้ๆกับวัดหนองป่าพงเพื่อเป็นที่ฝึกปฏิบัติของพระต่างประเทศและชาวต่างประเทศที่สนใจในการมีชีวิตอยู่อย่าง พระ และนับจากนั้น ศิษย์ชาวต่างประเทศรุ่นแรกๆ ก็ได้เริ่มเผยแผ่ธรรมะไปยังประเทศตะวันตก ท่านพระอาจารย์ชาเองก็ได้เดินทางไปเผยแพร่ธรรมที่ยุโรป สหรัฐอเมริกา และคานาดาสองครั้ง และไปจัดตั้งวัดสาขาขึ้นที่ ชิดเฮอร์ส ซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นวัดสาขาที่เจริญรุ่งเรืองมากสาขาหนึ่ง
ท่านพระอาจารย์ชา ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาสภาพการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายของพระป่าไว้ เพื่อที่จะให้ประชาชนในยุคปัจจุบันได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมอันจะเป็นทางให้เกิดความฉลาด และเกิดปัญญาในการดำรงชีวิตต่อไป
ท่านพระอาจารย์ ชา ได้มรณภาพ เมื่อ วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ บวชได้ ๕๒ พรรษา อายุ ๗๒ ปี
บัดนี้ เป็นโอกาสที่พวกเราทั้งหลายจะได้มีการอบรมธรรมปฏิบัติกัน พระบรมศาสดาท่านกล่าวถึงการปฏิบัติไว้ว่า บุคคลที่ยังไม่ได้รับการอบรมปฏิบัติก็จะไม่เข้าใจในธรรม ไม่เข้าใจในธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ หรือในสัญชาตญาณที่คู่กับเรามาแต่เกิด ธรรมชาติอันนี้ หรือสัญชาตญาณอันนี้มันเกี่ยวข้องกันกับชีวิตของเราตลอดเวลา เราจะเรียกว่าของที่มันเป็นอยู่ก็ได้ เรียกว่าสัญชาตญาณก็ได้ มันมีความเฉลียว ฉลาดอยู่ในนั้น ซึ่งช่วยป้องกันรักษาตัวมันเองมาตลอด สัตว์ทุกจำพวก เมื่อเกิดมา มันต้องรักษามันแหละ การรักษาตัว ปกป้องชีวิต ป้องกันอันตรายทั้งหลาย แสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิต นี้เหมือนกันหมด เช่นสัตว์ดิรัจฉาน มันก็กลัวอันตราย แสวงหาความสุข เหมือนกันกับสัญชาตญาณมนุษย์เรา อันนี้ท่านเรียกว่าเป็นธรรมชาติ หรือสัญชาตญาณ จะมารักษาตัวมันตลอดเวลา ธรรมชาตินั่นเอง ธรรมชาติเรื่องกาย หรือเรื่องจิตใจ
เราจะต้องมารับการอบรมใหม่ เปลี่ยนใหม่
ถ้าหากว่าเรายังไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัย ก็คือยังเป็นของที่ไม่สะอาด ยังเป็นของที่สกปรก เป็นจิตที่เศร้าหมองเหมือนกับต้นไม้ในป่า ซึ่งมันเกิดมาก็เป็นธรรมชาติ ถ้าหากว่ามนุษย์เรา ต้องการจะเอามาทำประโยชน์ดีกว่านั้น ก็ต้องมาดัดแปลง สะสาง ธรรมชาติอันนี้ให้เป็นของที่ใช้ได้ เช่นโต๊ะนี้ หรือบ้านเรือนของเรานั้น เกิดจากเราสามารถเอาธรรมชาติมาทำเป็นที่อยู่อาศัย เปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติอันนั้นมา มนุษยชาตินี้ก็เหมือนกัน ต้องมาปรับเปลี่ยนใหม่ ในทางพุทธศาสนา เรียกว่า พุทธศาสตร์
พุทธศาสตร์ คือคววามรู้ทางพุทธศาสนา สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของพวกเราทั้งหลาย ซึ่งมันติดแน่นอยู่ในอันใดอันหนึ่ง เช่น เราเกิดมามีชื่อเสียงเรียงนามมาตั้งแต่วันเกิด เช่นว่า เรียกว่าตน ตัวเรา ของเรา นี้สมมุติกันขึ้นมาว่าร่างกายของเรา ซึ่งสมมุติชื่อขึ้นมาจากธรรมชาตินั่นเอง พวกเราทั้งหลาย ก็เดินติดแน่นอยู่ในตัวเรา หรือในของเรา เป็นอุปาทานโดยที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เป็นอย่างนี้ในทางพุทธศาสนานั้นท่านสอนให้รู้ยิ่งเข้าไปกว่านั้นอีก ทำจิตใจให้สงบให้รู้ยิ่งเข้าไป ยิ่งกว่าธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ จนเป็นเหตุให้ไม่ยึดมั่น ถือมั่นในอัตตา ตัวตนอันนี้ พูดตามชาวโลก เราว่าตัว ว่าตน ว่าเรา ว่าเขา ทางพุทธศาสนานั้น ท่านเรียกว่าตัวตน เรา เขาไม่มี นี่คือมันแย้งกัน มันแย้งกันอยู่อย่างนี้ ตัวเราหรือของเรา ซึ่งพวกเราเข้าใจกันตั้งแต่เราเกิดมาจนรู้เดียงสา จนเกิดเป็นอุปาทานมาตลอดจนทุกวันนี้ อันนี้ก็เป็นเครื่องปกปิดธรรมอันแท้จริง อันพวกเราทั้งหลายไม่รู้เนื้อ รู้ตัว ฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาท่านจึงให้มาอบรม
การอบรมในทางพุทธศาสนานั้น เบื้องแรกท่านว่า ให้เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ตามบัญญัติท่านเรียกว่า ให้พากันรักษาศีล เป็นเบื้องแรกเสียก่อน นี่ข้อประพฤติปฏิบัติจนเป็นเหตุไม่ให้เกิดโทษ ไม่ไห้เกิดทุกข์ทางกายและทางวาจาของเรา อย่างที่เราทั้งหลายอบรมกันอยู่ ให้อายและกลัว ทั้งอาย ทั้งกลัว อายต่อความชั่วทั้งหลาย อายต่อความผิดทั้งหลาย อายต่อการกระทำบาปทั้งหลาย รักษาตัวกลัวบาป เมื่อจิตใจของเราพ้นจากความชั่วทั้งหลาย พ้นจากความผิดทั้งหลาย ใจเราก็เยือกเย็น ใจเราก็สบาย ความสบาย หรือความสงบอันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติ ซึ่งไม่มีโทษนั่นก็เป็น สมาธิ ขั้นหนึ่ง
ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า
สพฺพาปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธานสาสนํ ท่านว่าเป็นหัวใจของพุทธสาสนา
สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทางกายทางวาจา คือ การไม่ทำผิด ทำชั่ว ทางกาย ทางวาจา อันนี้เป็นตัวศาสนา เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือ เอตํ พุทธานศาสนํ
กุสลสฺสูปสมฺปทา เมื่อมาทำจิตของตนให้สงบระงับจากบาปแล้ว ก็เป็นจิตที่มีกุศลเกิดขึ้นมา เอตํ พุทธานสาสนํ อันนี้ก็เป็นคำสอนของท่าน หรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเหมือนกัน
สจิตฺตปริโยทปนํ การมาทำจิตใจให้ผ่องใสขาวสะอาด เอตํ พุทธานศาสนํ อันนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือเป็นหัวใจของพุทธศาสนาอีกประการหนึ่ง
ทั้งสามประการนี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ก็ประพฤติปฏิบัติอันนี้ ซึ่งมันมีอยู่ในตัวเราแล้ว กายก็มีอยู่ วาจาก็มีอยู่ จิตใจก็มีอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงให้ปฏิบัติ ให้พิจารณาตัวในตัว ในของตัว ซึ่งมันมีอยู่ ของทั้งหมดที่เราศึกษา เราเรียนกันนั้น มันจะมารู้ความเป็นจริงที่ตัวของเรา ไม่ไปรู้อยู่ที่อื่น
เบื้องแรกก็รู้จากการได้ฟัง ที่เรียกว่า สุตมยปัญญา การได้ฟัง การได้ยินอันนี้ก็เป็นเหตุให้รู้ เป็นเหตุให้เกิดปัญญา เช่นว่า สมมุติว่า วันนี้เราเพิ่งไดยินว่าสีขาว แต่ก่อนนี้ เราไม่เคยได้ยิน ทีนี้เมื่อเรารู้ว่าสีขาวมันเป็นเช่นนี้ เราก็คิดไปอีก สีอื่นจะไม่มีหรือ หรือสีขาวจะแปรเป็นสีอื่นจะได้หรือไม่ เป็นต้น นี่เรียกว่า จินตามยปัญญา หรือว่าเราคิกไป ก็ไปลองคิดดู เอาสีดำมาปนในสีขาว มันก็เกิดเป็นสีอื่นขึ้นมาอีก เป็นสีเทา อย่างนี้เป็นต้น การที่เราได้รู้จักสีเทาต่อไปนั้น ก็เพราะว่าเราคิด ปัญญาเกิดจากการคิด การวิพากษ์วิจารณ์ เราเลยรู้สูงขึ้นไปกว่าสีขาว รู้สีเทาเพิ่มขึ้นไปอีก ปัญญาเกิดจากสิ่งทั้งสองนี้
นี้เป็นปัญญาที่เป็นโลกียวิสัย ซึ่งชาวโลกพากันเรียนอยู่ทั้งในเมืองไทย จะไปเรียนเมืองนอกมาก็ตาม มันก็คงอยู่ใน สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา เท่านั้น อันนี้เป็นโลกียวิสัย พ้นทุกข์ไม่ได้ พ้นทุกข์ได้ยาก หรือพ้นไม่ได้เลยทีเดียว เพราะเมื่อรู้สีขาว สีเทาแล้วก็ไปยึดมั่น(อุปาทาน) ในสีขาว สีเทานั้น แล้วจะปล่อยวางไม่ได้ เช่นว่าเราเกิดอารมณ์ขึ้นมา ได้ยินเขาว่าเราไม่ดี เรียกว่านินทา อดเสียใจไม่ได้ อดน้อยใจไม่ได้ เข้าไปยึดมั่น ถือมั่น (อุปาทาน) ในอารมณ์นั้น เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นมา เพราะ อุปาทาน นี้เรียกว่าการรู้ หรือการเห็นจากการได้ฟัง มันจะพ้นทุกข์ไม่ได้ หรือว่าเขาสรรเสริญเรา มันอดดีใจไม่ได้ แล้วก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในความดีนั้นอีก ไม่ได้ตามปรารถนาแล้วก็ทุกข์อีก สุขแล้วก็ทุกข์ ทุกข์แล้วก็สุข ดีแล้วก็ชั่ว ชั่วแล้วก็ดี เป็นตัววัฏฏะหมุนเปลี่ยนแปรไปไม่จบ อันนี้เป็นโลกียวิสัยเช่นที่ปรากฏอยู่ในโลกทุกวันนี้แหละ พวกเราทั้งหลายก็เคยรู้ เคยเห็น วิชาในโลกนี้เราเคยรู้เคยเห็น จะเรียนไปถึงที่สุดอะไร ที่ไหนก็ตาม มันก็ยังทุกข์ เอาทุกข์ออกจากตัวไม่ได้ นั่นเป็นปัญญาโลกีย์ ละทุกข์ไม่ได้ ไม่พ้นจากทุกข์ ความร่ำรวยเศรษฐี หรือมหาเศรษฐีที่อยู่ในโลกนี้มันก็ไม่พ้นจากความทุกข์ เพราะมันเป็นโลกียวิสัย ปัญญาทั้งสองประการนี้ ท่านยกให้โลก ปกครองกันอยู่ในโลก วุ่นวายกันอยู่ในโลก ไม่มีทางจบ ถึงแม้จะจนมันก็ทุกข์ ถึงแม้จะรวยแล้วมันก็ยังทุกข์อยู่อีก ไม่พ้นไปจากทุกข์
ปัญญาโลกุตตระที่จะเกิดขึ้นมาต่อไป เป็นความรู้ของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นโลกุตตระ พ้นจากทุกข์พ้นจากวัฏฏสงสาร อันนี้ท่านพูดถึงการอบรมจิตใจ (ภาวนา)ไม่ต้องอาศัยการฟัง ไม่ต้องอาศัยการคิด ถึงฟังมาแล้วก็ดี ถึงคิดมาแล้วก็ดี เมื่อภาวนาทิ้งมัน ทิ้งการฟังไว้ ทิ้งการคิดเสีย เก็บไว้ในตู้ แต่มาทำจิต (ภาวนา)อย่างที่พวกเรามาฝึกกันอยู่ทุกวันนี้ หรือเรียกว่าทำกรรมฐาน ที่โบราณาจารย์ทั้งหลาย ท่านแยกประเภทส่วนแห่งการกระทำ แยกข้อประพฤติ ปฏิบัติ เรียกว่า สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน
สมถวิปัสสนา เป็นแนวทางที่ให้พวกเราทั้งหลายปฏิบัติให้เป็นโลกุตตรจิต ให้พ้นจากวัฏฏสงสาร เช่นว่า เรานั่ง ไม่ต้องฟัง และไม่ต้องคิด ตัดการฟัง ตัดการคิดออก และยกส่วนใดส่วนหนึ่งขึ้นพิจารณา เช่น เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ หรือเรายกอานาปานสติ คือหายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ ในเวลาที่เราทำกรรมฐานอยู่นั้น ในเวลาที่เรากำหนดลมอยู่นั้น ท่านไม่ให้ส่งจิตไปทางอื่น ให้กำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว ออกไป แล้วเข้ามา เข้ามาแล้วออกไป ไม่ต้องอยากรู้อะไรมาก ไม่ต้องอยากเห็นอะไรต่อไป ให้จิตของเรารู้เฉพาะลมที่มันเข้าหรือมันออก เรียกว่า การกำหนดลม เป็น อานาปานสติ
การกำหนดลมนี้ บางคนกำหนดไม่ได้ การกำหนดลม เราจะต้องเอาสภาวะที่มันเป็นอยู่ หายใจเข้ายาว หายใจออกสั้นเท่าไร อันนั้นไม่เป็นประมาณ เป็นประมาณที่ว่ามันสบายอย่างไร หายใจแรงหรือมันค่อย หรือมันยาว หรือมันสั้น เราจะต้องทดลองหายใจดู มันดูจริตที่ตรงไหน มันสบายอย่างไร ลมไม่ขัดข้อง จะกำหนดตามลมก็สบายสะดวก ตัวอย่างเช่น เราฝึกเย็บผ้าด้วยจักร เราก็ควรเอาจักรมาลอง เอาเท้าเราถีบจักรเข้า ถีบจักรเปล่ายังไม่ต้องเย็บผ้า ให้มันชำนาญเสียก่อน เมื่อเท้าเราชำนาญพอสมควร แล้วค่อยเอาผ้ามาใส่ เย็บไป พิจารณาไป
การกำหนดลมหายใจนี้ก็เหมือนกัน ก็หายใจเบาๆเสียก่อน ไม่ต้องกำหนดอะไร มันยาว มันสั้น มันหยาบ มันละเอียด มันสบายอย่างไร อันนั้นเป็นจริตของเรา ความพอดีของมันนั้น ไม่ยาว ไม่สั้น พอดี เรากำหนดเอาอันนั้นเป็นประมาณ นี้เรียกว่าให้กรรมฐานถูกจริต แล้วค่อยๆปล่อยลมออกไป แล้วก็สูดลมเข้ามา เราจะกำหนดว่า เมื่อลมเข้ามา ต้นลมอยู่ปลายจมูก กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่สะดือ เมื่อเราหายใจออก ต้นลมอยู่สะดือ กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่จมูก ให้เรากำหนดอย่างนี้เสียก่อน แล้วก็สูดลมเข้าผ่านปลายจมูก หทัย สะดือ เมื่อออกตั้งต้นสะดือ หทัย ปลายจมูก เป็นต้น ทำอยู่อย่างนี้แหละ ไม่ต้องสนใจอื่น
เมื่อเราทำ สมถกรรมฐาน คือกำหนดลม ไม่ต้องพิจารณาอะไร เอาสติประคองจิตเรา ให้รู้ตามลมเข้าออกเท่านั้น ไม่ต้องสนใจอย่างอื่น ไม่ต้องพิจารณาอย่างอื่น ลมก็สบายไม่ขัดข้อง ลมเข้าก็สบาย ลมออกก็สบาย เอาความรู้สึกที่เรียกว่า สติ สติตามลม ส่วนสัมปชัญญะ ก็รู้อยู่ว่าสติเราตามลม ขณะที่เรากำลังทำอยู่นั้น มีสติ แล้วก็มีลม มีสติตามลม เราจะมองดูในที่อันนั้น เราจะรู้ลม เห็นลม ว่ามันยาว สั้นประการใด เห็นลม และมีสติอยู่ว่าเรารู้ลม แล้วก็เห็นจิตของเราตามลม เห็นทั้งลม เห็นทั้งสติ เห็นทั้งจิต ๓ ประการรวมกัน หายใจเข้าก็รวม หายใจออก ก็รวม รู้สึกอยู่อย่างนี้ มันจะเป็นอะไรบ้างต่อไป อย่าคิดไป มันจะมีอะไรบ้างต่อไป อย่าคิดไป ทำอย่างนี้มันจะดี จะเป็นอย่างไรต่อไปไม่ต้องคิด เรียกว่ากำหนดลมเข้าออกสบาย
เมื่อหากว่าจิตของเรากำหนดอารมณ์กับลมหายใจถูกแล้ว มันจะไม่ขัดข้อง ผู้รู้ก็ไม่ขัดข้อง ทุกอย่างทุกส่วนก็ไม่ขัดข้อง เราเพียงแต่รู้อันเดียวเท่านั้นแหละ คือรู้แต่เพียงลมหายใจเข้าออก คือกำหนดรู้ว่า ต้นลมคือจมูก กลางลมคือหทัย ปลายลมคือสะดือ เมื่อลมมันถอยออกมา ต้นลมอยู่สะดือ กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่จมูก ๓ประการนี้ เรานั่งพิจารณากำหนดรู้อยู่เช่นนั้น ให้มันรู้ทั้ง ๓ นี้เสมอ เรียกว่าเรามีสติเต็มที่ของเรา มีผู้รู้ควบคุมสติอันนั้นอยู่เต็มที่ เช่นนี้เรียกว่าเราทำ สมถกรรมฐาน จนกว่าจิตเรามันสงบ
เมื่อจิตเราสงบ กายมันก็เบา ใจมันก็เบา ลมมันก็ละเอียด เมื่อเรามีลมอันละเอียดแล้ว ก็ไม่ต้องตามลม เพราะการตามลมเข้าไป มันเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อไม่อยากจะตามเสียแล้ว เอาสติกำหนดที่ปลายจมูกของเรานี้ พอแต่รู้ว่ามันเข้า พอแต่รู้ว่ามันออก เท่านี้ก็พอแล้ว จิตสบาย กายก็เบา ใจสงบ ลมก็ละเอียด อันนี้จิตเป็นสมาธิ รู้ตามลมอย่างเดียว เมื่อมันละเอียดเต็มที่เข้าไปนั้น มันจะเกิดความละเอียดขึ้นมาในใจของเราอีก ลมที่เรากำหนดอยู่นี้มันจะหายไป มันจะไม่มีลม ที่จริงมันมีอยู่หรอกแต่มันละเอียดที่สุดจนกำหนดไม่ได้ ก็เลยเกิดเป็นคนไม่มีลม นั่งเฉยๆ อยู่ นึกว่าไม่มีลม
ตอนนี้พระโยคาวจรเจ้ามักจะตกใจ กลัวว่าราไม่มีลม กลัวว่าเราจะเป็นอะไรไป ถ้าไม่มีลมแล้วจะเอาอะไรเป็นอารมณ์ต่อไปอีก เราจะต้องเอาความรู้สึกว่าลมไม่มีนั่นแหละ เป็นอารมณ์ต่อไป ไม่เป็นโทษ ไม่เป็นอันตราย เราทำจิตของเราให้รู้ว่าไม่มีลมเข้าไป ถึงกาล ถึงเวลาแล้วเป็นเอง อันนี้ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องสะดุ้ง จะเป็นไปอย่างไรก็ตาม ก็รู้ รู้ใจของเราที่มันเป็นอย่างไร กำหนดจิตเข้าไปว่ารู้อย่างไร จะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด อันนี้เป็นอารมณ์ของการกระทำจิตให้สงบ (สมถะ) เบื้องแรก
พูดถึงความสงบ (สมถะ) พอมันสงบแล้ว ก็มีส่วนที่มันไม่สงบมาปะปนเข้า เช่นว่า เราเพิ่งมาฝึกจิตของเราเดือนหนึ่ง ๑๐ วัน ๕ วัน โดยมากมันก็ยังไม่สงบ ถ้ามันไม่สงบนั้น ไม่ต้องน้อยใจ มันเป็นเรื่องธรรมดาของมัน เรื่องจิตอันนี้มันจะอยู่นิ่งๆ ในที่ของมันไม่ได้หรอก บางทีมันมีอาการคิดอย่างโน้น คิดอย่างนี้ ในขณะอยู่ในที่สงบอันนั้นแหละ บางคนก็จิตไม่สงบ จิตฟุ้งซ่าน ใจก็ไม่สบาย ใจเขาก็ไม่ดีเพราะว่าจิตไม่สงบ อันนี้เราต้องพิจารณาด้วยปัญญาของเรา เรื่องไม่สงบอันนั้นเพราะเราไม่รู้ตามความเป็นจริงของมันเท่านั้นเอง ถ้าเรารู้ตามความเป็นจริงของมันแล้ว อันนั้นสักแต่ว่าอาการของจิตจริงๆ แล้วจิตมันไม่ฟุ้งไปอย่างนั้น เช่นว่า เรารู้ความคิดแล้วว่า บัดนี้เราคิดอิจฉาคน นี้เป็นอาการของจิต แต่ว่าเป็นของไม่จริง มันไม่เป็นความจริง เรียกว่าอาการของจิต มันมีตลอดเวลา ถ้าหากคนไม่รู้ตามความเป็นจริงของมันแล้ว ก็น้อยใจว่าจิตเราไม่อยู่นิ่ง จิตเราไม่สงบ อันนี้เราต้องใช้การพิจารณาอีกทีหนึ่งให้มันเข้าใจ เรื่องของจิตนั่นนะ มันเป็นเรื่องของอาการของมัน แต่ที่สำคัญคือ มันรู้ รู้ดีมันก็รู้ รู้ชั่วมันก็รู้ รู้สงบมันก็รู้ รู้ไม่สงบมันก็รู้ อันนี้คือตัวรู้ พระพุทธเจ้าของเราท่านให้ตามรู้ ตามดูจิตของเรา
จิตนั้นคืออะไร จิตนั้นอยู่ที่ไหน ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ เราก็คงรู้ตัวของเรา ความรู้ที่มันรู้นี่มันรู้อยู่ที่ไหน จิตก็เหมือนกัน จิตนี้คืออะไร มันเป็นธรรมชาติ หรือเป็นสัญชาตญาณอันหนึ่งที่มันมีอยู่ อย่างที่เราได้ยินอยู่เดี๋ยวนี้แหละ มันมีความรู้อยู่ ความรู้นี้มันอยู่ที่ไหน ในจิตนั้นมันเป็นอย่างไร ทั้งลงความรู้ก็ดี เป็นแต่ความรู้สึก ผู้ที่รู้สึกดีชั่ว เป็นสักแต่ว่าความรู้สึก รู้สึกดีหรือชั่ว หรือรู้สึกผิดหรือถูก คนที่รู้สึกนั้นแหละเป็นคนรู้สึกตัว รู้สึกตัวมันคืออะไร มันก็ไม่คืออะไร ถ้าพูดตามส่วนแล้วมันเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้ารู้สึกผิดไปก็ไปทำผิด มันรู้สึกถูกก็ไปทำถูก ฉะนั้นท่านจึงให้เกิดความรู้สึกขึ้นมา เรื่องจิตของเรานั้น มันเป็นอาการของจิต เรื่องมันคิดมันคิดไปทั่ว แต่ผู้รู้คือปัญญาของเราตามรู้ ตามรู้อันนั้นตามเป็นจริง
ถ้าเราเห็นอารมณ์ตามเป็นจริงของเราแล้ว มันก็เปลี่ยนไปอีกประเภทหนึ่ง (วิปัสสนากรรมฐาน) เช่นว่าเราได้ยินว่ารถทับคนตายเป็นต้น เราก็เฉยๆ ความรู้ชนิดนี้มันก็มี แต่มันรู้ไม่เห็น รู้ไม่จริง รู้ด้วยสัญญา(ความจำ) ขนาดนี้มันรู้อย่างนี้ ทีนี้ถ้าหากว่าเดินไปดูซิ รถมันทับคนตายที่ไหน ไปเห็นร่างกายคนนั้นมันเละหมดแล้ว อันความรู้ครั้งที่สองนี้ มันดีขึ้นเพราะไปเห็น เห็นอวัยวะที่ถูกรถทับ มันเกิดสลด เกิดสังเวช ความรู้ที่เห็นด้วยตามันมีราคายิ่งกว่าเขาว่า
เมื่อเราไปเห็นทุกสิ่งอันนี้ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่แน่ไม่นอน ในร่างกายนี้ไม่เป็นแก่เป็นสาร ไม่สดไม่สวย ความรู้สึกนึกคิดมันค้นในเวลานั้นมันก็เกิดปัญญา (วิปัสสนา) เป็นเหตุให้ถอนอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น)ออกได้ เรียกว่าความรู้สึกอันนี้มันสูงขึ้น สูงขึ้นๆ ต้องพิจารณาเช่นนี้
การทำกรรมฐาน ถ้าไม่รู้จักแล้วจะลำบาก บางคนก็ไม่ทำ เมื่อมาทำวันสองวันสามวัน มันก็ไม่สงบ มันก็เลยนึกว่า เราทำไม่ได้ เราต้องคิดว่า เมื่อเราเกิดมาเคยถูกสอนหรือยัง เราเคยทำความสงบหรือเปล่า เราปล่อยมานานแล้ว ไม่เคยฝึก เคยหัดมัน มาฝึกชั่วระยะหนึ่งอยากให้มันสงบอย่างนั้นมันไม่พอ ผลมันก็ไม่มี เป็นเรื่องของธรรมดา เป็นเรื่องอันตัวเราท่านทั้งหลายจะหลุดพ้น ต้องอดทน การอดทนเป็นแม่บทของการประพฤติปฏิบัติ
ให้เห็นกาย ให้เห็นใจ เมื่อรู้จักธรรมตามความเป็นจริงแล้วนั่น ความที่เรายึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน) แต่ก่อนๆ มันจึงจะผ่อนออก เห็นตามความเป็นจริงของมัน อุปาทานมั่นหมายในความดี ความชั่วทั้งหลายมันจะคลายออก คลายออก เห็นว่ามันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เป็นของไม่แน่ไม่นอน
ที่มันเกิดมีในจิตของเรานี้นั้น ลองดูซิ ความรักมันแน่ไหม มันก็ไม่แน่ ความเกลียดมันแน่ไหม ความสุขมันแน่ไหม มันก็ไม่แน่ ความทุกข์มันแน่ไหม มันก็ไม่แน่ อันไม่แน่นั้นเรียกว่าของไม่จริง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่ออันนี้มันไม่จริง ของจริงมันอยู่ที่ไหน ของจริงอยู่ที่ มันเป็นอยู่อย่างนั้น มันไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้น เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น มันจริงสักแต่ว่า มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น อันนี้คือความจริง ความจริงอยู่ตรงที่มันไม่จริง อันความเที่ยงอยู่ตรงที่ความไม่เที่ยง เหมือนกันกับของสกปรก มันเกิดมีขึ้น ความสะอาดอยู่ที่ไหน มันอยู่ตรงที่สกปรกนั่นแหละ เอาสกปรกออกก็เห็นความสะอาดฉันใด จิตใจของเรานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น
การประพฤติปฏิบัตินี้ บางคนปัญญามันน้อย บางคนปัญญามันมาก ไม่ทันกัน ไม่เห็นเหมือนกัน อย่างเราไปพบวัตถุอันหนึ่ง ๒ คน หรือ ๓ คนไปพบแก้วใบหนึ่ง บางคนก็เห็นว่ามันสวย บางคนจะเห็นว่ามันโตไป บางคนจะเห็นว่ามันเล็กไป นี่ ทั้งๆ ที่แก้วใบเดียวกันนั่นเอง ทำไมไม่เหมือนกัน แก้วใบนั้นมันเหมือนของมันอยู่ แต่ความเห็นของเรา มันไม่เหมือนกัน มันเป็นเช่นนี้ ฉะนั้น มันจึงไม่เหมือนกันอยู่ที่ตรงนี้ การประพฤติปฏิบัติทางพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านสอน อย่าให้มันช้า อย่าให้มันเร็ว ทำจิตใจให้พอดี การประพฤติปฏิบัตินี่ไม่ต้องเดือดร้อน ถ้ามันเดือดร้อน เราก็ต้องพิจารณา เช่นว่าเราจะปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งขึ้นมา ต้นไม้ที่จะปลูกนั้นก็มีอยู่ ก็ขุดหลุม ก็ปลูก เอาต้นไม้มาวางลงหลุมนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราจะมูนดิน จะให้ปุ๋ย จะให้น้ำ จะรักษาแมลงต่างๆ ก็เป็นเรื่องของเรา เป็นหน้าที่ของเรา คนจะทำสวนต้องทำอย่างนี้ ทีนี้ ต้นไม้มันจะโตเร็ว โตช้าของมันนั้น มันไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของต้นไม้ ถ้าเราไม่รู้จักหน้าที่การงานของตัวแล้ว มันก็ไปทำงานหน้าที่ของต้นไม้ มันก็ทุกข์ ไม่ทำงานหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราก็ให้ปุ๋ยมันไป ให้น้ำมันไป รักษาแมลงมันไปเท่านั้น ส่วนต้นไม้จะโตเร็ว โตช้าเป็นเรื่องของต้นไม้ ถ้าเรารู้จักหน้าที่การงานของเราเช่นนี้ ภาวนา (ฝึกจิต) ก็สบาย ถ้าเราคิดเช่นนี้การปฏิบัติของเราก็สบาย ง่าย สะดวก ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย
นั่งมันสงบอยู่ก็ดูความสงบไป ที่มันไม่สงบก็ดูความไม่สงบไป ที่มันสงบนั่น มันก็เป็นเรื่องของจิต มันเป็นอย่างนั้น ที่มันไม่สงบ มันก็เป็นเรื่องของมันอย่างนั้น ไม่ได้เป็นอย่างอื่น มันสงบแล้ว มันก็สงบไป ถ้าไม่สงบก็ไม่สงบไป เราจะไปทุกข์เพราะมันไม่สงบไม่ได้ เราจะไปดีใจเพราะจิตสงบมันก็ไม่ถูก เราจะไปเสียใจเพราะจิตมันไม่สงบก็ไม่ถูกเหมือนกัน เราจะไปทุกข์กับต้นไม้ได้หรือไปทุกข์กับแดดได้หรือ ไปทุกข์กับฝนได้หรือ ไปทุกข์กับอย่างอื่นได้หรือ มันเป็นเรื่องของมันอยู่อย่างนั้น
ถ้าเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว การภาวนาของพระโยคาวจรนั้นก็สบายแล้ว เดินทางเรื่อยๆ ไป ปฏิบัติ ทำธุระหน้าที่ของเราไป เวลาพอสมควรเราก็ทำของเราไป ส่วนมันจะได้จะถึงหรือมันสงบนั้น ก็เป็นวาสนาบารมีของเรา เหมือนกับชาวสวนปลูกต้นไม้ หน้าที่ของเราใส่ปุ๋ยก็ใส่มันไป รดน้ำก็รดมันไป รักษาแมลงก็รักษามันไป เรื่องต้นไม้จะโตเร็วโตช้าไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของต้นไม้ ละปล่อยทั้งสองอย่างนี้ รู้จักหน้าที่ของเรา รู้จักหน้าที่ของต้นไม้ มันถึงเป็นชาวสวนที่มีความสดชื่นดีฉันใด ผู้มีปัญญา ผู้ที่ภาวนาในพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น พอจิตคิดเช่นนี้ ความพอดีมันตั้งขึ้นมาเอง ความพอดีมันตั้งขึ้นมาก็เลยเป็นปฏิปทาที่พอดีเกิดขึ้นมา ความเหมาะสมมันก็เกิดขึ้นมา อารมณ์ เหมาะสมมันก็เกิดขึ้นมา ความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว เป็นสัมมาปฏิปทา ปฏิบัติไม่หย่อน ปฏิบัติไม่ตึง ปฏิบัติไม่เร็ว ปฏิบัติไม่ช้า จิตใจก็ปล่อยไปตามสภาวะของมัน อันนั้นคือภาวนา สงบแล้ว สบายแล้ว
ความรู้สึกนึกคิดของเราไปมีอุปาทานมั่นหมายมันขึ้นเมื่อไร มันก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ฉะนั้น ในการประพฤติปฏิบัติ ท่านจึงให้ปล่อยวาง เช่นว่า เราอยู่ด้วยกันหลายๆคน นี้นะ ต่างบ้าน ต่างตระกูล ต่างตำบล ต่างจังหวัด ที่มารวมๆ กันนี้ ถ้าเรารู้คนในนี้ ในศาลานี้ก็สบายแล้ว ภาวนาเราก็สบาย เรื่องคนนี้ก็ให้คนนี้ เรื่องคนนั้นก็ให้คนนั้น ให้คนละคน ละคนไปเรื่อยๆไป เราก็สบาย เรื่องทุกสิ่งทุกอย่างก็ปล่อยไป ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจัยเรื่องคนอื่น ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจัยเรื่องนอกกายนอกใจเราแล้ว มันก็เกิดความสงบความสบายขึ้นมา
เราต้องการธรรมไปทำไม ต้องการธรรมไปเพื่อรู้ตามความเป็นจริงเท่านั้นเอง ถึงแม้มันจะจน ถึงแม้มันจะรวย ถึงแม้มันจะเป็นโรค ถึงแม้มันจะปราศจากโรคจิตก็อยู่อย่างนั้นเอง เช่นว่า วันหนึ่งตัวเรามันไม่สบายขึ้นมา จะเห็นชัดในจิตของเราว่า มันก็นึกกลัวตาย กลัวมันจะไม่หาย ใจก็ไม่สบายเกิดขึ้นมาแล้ว ความไม่สบายเกิดขึ้นมาแล้ว คือไม่อยากจะตาย อยากให้มันหาย อันนี้เห็นแง่เดียว ตามธรรมชาติของมันแล้ว ถ้ามันเกิดป่วยขึ้นมา เกิดอาพาธขึ้นมา เราก็รู้ว่า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย หายก็หาย ไม่หายก็ไม่หาย ถ้าเราคิดได้เช่นนี้มันเป็นธรรม เอาทั้งสองอย่างนั่นแหละ หายก็เอามัน ไม่หายก็เอามัน เป็นก็เอามัน ตายก็เอามัน
อันนี้ถูก แต่ว่ามันจะมีสักกี่คน นั่งฟังธรรมอยู่ที่นี่ มีกี่คนป่วยมาแล้ว ตายก็ตาย หายก็หาย มีกี่คนก็ไม่รู้ ที่มันอยากจะตาย อันนี้มันคิดผิด เพราะมันกลัว เพราะมันไม่เห็นธรรม มันจึงทุกข์ ถ้าเห็นสังขารร่างกายแล้วไม่ว่ามันล่ะ หายก็หาย ตายก็ตาย เอาทั้งสองอย่าง ไม่เอามันก็ต้องได้อะไรสักอย่างจนได้
เมื่อเรารู้จักธรรมเช่นนี้ รู้จักสังขารเช่นนี้ เราก็พิจารณาตามสังขารว่ามันเป็นอย่างนั้น นี่กรรมฐานมันตั้งขึ้นมาแล้ว มันพ้นทุกข์อย่างนี้ ไม่ใช่ว่ามันไม่ตาย ไม่ใช่ว่ามันไม่เจ็บ ไม่ใช่ว่ามันไม่ไข้ อันเรื่องเจ็บเรื่องไข้มันเป็นเรื่องของสังขาร เป็นไปตามเรื่องของมัน ถึงคราวมันจะตาย ไม่อยากตายเท่าไหร่ มันก็ตาย ถึงคราวมันจะหาย ไม่อยากจะให้หาย มันก็หาย อันนี้มันไม่ใช่ธุระหน้าที่ของเราแล้ว มันเป็นธุระหน้าที่ของสังขาร ถ้าเราภาวนาเห็นเช่นนี้ จิตมีอารมณ์เห็นเช่นนี้ทุกขณะ จิตก็ปล่อยวางสบาย
การภาวนานั้นไม่ใช่ว่านั่งหลับตาภาวนาอย่างเดียว การภาวนานั้นตลอดเวลา การยืน การนั่ง การนอน ให้มีสติ ประคับประคองอยู่เสมอเลยทีเดียว
บัดนี้มีความทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ทวนดูซิ อันนี้มันก็ไม่แน่นอนหรอก เรื่องมันไม่จริงทั้งนั้นน่ะ เราต้องเตือนอยู่เช่นนี้ เมื่อมันมีสุขเกิดขึ้นแล้ว สุขนี้มันก็ไม่แน่เหมือนกันนั่นแหละ เคยสุขมาแล้วมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เดี๋ยวมันก็สุข เป็นของไม่แน่นอนทั้งนั้น ถ้าเราเห็นอารมณ์เมื่อได ถูกอารมณ์ขึ้นมาเมื่อได มันจะดีใจ เราก็ต้องบอกมัน เตือนมัน ว่าความดีใจมันก็ไม่แน่นอนหรอก เป็นแต่ความไม่จริงทั้งนั้นแหละ มันหลอกลวงทั้งนั้น เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นมา ก็ว่ามันไม่แน่นอน เป็นสิ่งหลอกลวงทั้งนั้นแหละ เป็นความรู้สึกเท่านั้นแหละ
ความเป็นจริงแล้ว ความสุขหรือความทุกข์นั้นไม่มี มันมีแต่ความรู้สึก รู้สึกว่าสุข รู้สึกว่าทุกข์ ถ้ามีความชอบใจก็รู้สึกว่าสุข ไม่ชอบใจก็รู้สึกว่าทุกข์ ตัวสุข ตัวทุกข์จริงๆมันไม่มี มันเป็นเพียงแต่ความรู้สึก ถ้าเราคิดได้เช่นนี้ เราก็เห็นของปลอมตลอดเวลา รู้จักอารมณ์ อารมณ์อันนี้ก็ไม่ต้องว่าไปสอบอารมณ์ การภาวนาไม่ต้องไปสอบอารมณ์ เมื่อเรามีสติตลอดเวลา ทุกวัน ทุกนาที มันจะรู้จักอารมณ์ เมื่อเราทำผู้รู้ให้ตื่นอยู่เสมอแล้ว มันจะเห็นความสุข หรือทุกข์ ชอบไม่ชอบ จะเห็นอยู่ตลอดเวลา มันจะทวนลงไปทีเดียว ว่ามันไม่แน่
สุขเกิดขึ้นมาอันนี้ก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน อย่าไปหมายมั่นมันเลย ทุกข์เกิดขึ้นมาเราก็ว่าเลยว่า อันนี้มันก็ไม่แน่เหมือนกันนะ มันแน่อยู่ตรงไหนเล่า มันแน่อยู่ตรงที่ไม่แน่ มันเป็นอยู่อย่างนั้นเอง อันนี้เป็นเหตุให้สุขทุกข์และอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีกำลัง เสื่อม เมื่อสิ่งทั้งหลายนี้มันเสื่อมไป อุปาทาน(ความยึดมั่น) ของเราก็น้อย ก็ปล่อยวาง นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของธรรมดาเช่นนี้
ฉะนั้นจิตใจของเรา มันจะได้มาก็เป็นเรื่องธรรมดาของมัน มันจะเสียหายไปก็เป็นเรื่องของมัน มันจะสุขก็เป็นเรื่องของมัน มันจะทุกข์ก็เป็นเรื่องของมัน เรื่องของสังขารมันเป็นอยู่อย่างนั้น อันนี้เป็นสักแต่ว่าเรารู้สึกเท่านั้น อื่นนั้นก็ไม่มี ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้ โอปนยิโก คือน้อมเข้ามาใส่ตัว อย่าน้อมออกไป น้อมเข้ามาให้เห็นด้วยตัวของเรานี้
ทางที่ดีสำหรับคนที่อ่านที่ศึกษามามากแล้ว จะมาอยู่ มาภาวนาเพียงสองสัปดาห์เท่านี้น่ะ อาตมาเห็นว่าไม่ต้องดู ไม่ต้องอ่าน หนังสือเอาเข้าตู้เสีย ถึงเวลาเราทำกรรมฐาน นั่งสมาธิของเรา เราก็ทำไป อานาปานสติทำไปเรื่อยๆ ขณะที่เราเดินจงกรม เราก็เดิน ให้รู้จิตของเราเท่านั้นแหละ รักษาจิตของเรา บางทีความหวาด ความสะดุ้งมันเกิดขึ้นมา เราก็ทวนมันอีก อันนี้เป็นของไม่แน่นอน เรื่องความกล้าเกิดขึ้นมา อันนี้มันก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน ไม่แน่ทั้งหมดนั่นแหละ ไม่รู้จะจับอะไร นี่ทำปัญญาให้เกิดเลยทีเดียว ทำปัญญาให้เกิด ไม่ใช่รู้ตามสัญญา(ความจำ) รู้จิตของเราที่มันคิดมันนึกอยู่นี้ มันคิดนึกทั้งหมดเกิดขึ้นมาในใจของเรานี่แหละ จะดีหรือชั่ว จะถูกหรือผิด รับรู้มันไว้ อย่าไปหมายมั่นมัน เออ...ทุกข์มันก็เท่านั้นแหละ สุขมันก็เท่านั้นแหละ มันเป็นของหลอกลวงทั้งนั้นแหละ เรายืนตัวอยู่เช่นนี้เลย ยืนตัวอยู่เสมอเช่นนี้ ไม่วิ่งไปกับมัน ไม่วิ่งไปกับสุข ไม่วิ่งไปกับทุกข์ รู้อยู่ รู้แล้วก็วาง อันนี้ปัญญาจะเกิด ทวนจิตเข้าไปเรื่อยๆ
เวลาเรามีไม่มาก เรามาฝึกจิตก็ต้องดูจิต ดูอาการของจิต ลองดูจิต ให้เห็นจิตเรา อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ถือมั่นก็เห็นสุขเป็นของจริง สุขเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา มันคิดเช่นนี้ แต่ความเป็นจริงนี้ สุขสักแต่ว่าสุข ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ทุกข์นี้ก็ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ตัวคนที่รู้ทุกข์หรือสุขนี้ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ถ้าเราเห็นเช่นนี้ ก็ไม่มีอะไรจะเกาะ เกิดสุขขึ้นมา สุขก็เกาะเราไม่ได้ เกิดทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ก็เกาะเราไม่ได้ เพราะว่ามันไม่แน่น เป็นของปลอมทั้งนั้น เป็นของไม่แน่นอน ถ้าเราคิดเช่นนี้จะภาวนาได้เร็ว จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนจะไปจะมา ทุกอย่างจิตกำหนดอยู่เสมอ ให้รู้ มีอารมณ์มันเข้ามา ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรสอะไรต่างๆ นี้มันจะเกิดความชอบไม่ชอบขึ้นมาทันที มันจะเกิดสุข เกิดทุกข์ขึ้นมาทันที อันนี้เราเรียกว่าอ่านดูจิต มันจะเห็นจิตเพราะมันจะเกิดจากจิตดวงเดียวเท่านี้ มันจะให้สุข มันจะให้ทุกข์ ทุกอย่างเกิดจากจิต ถ้าเราตามดูจิตของเราอยู่เช่นนี้ มันจะเห็นกิเลส มันจะเห็นจิตของเราสม่ำเสมอเลยทีเดียว อันนี้แหละคือการภาวนา
บางคนเมื่อมาภาวนา ตอนเย็นก็นั่นสมาธิ เดินจงกรมก็นึกว่าเขาได้ภาวนาแล้ว ยังไม่ใช่เท่านี้ ความเป็นจริง การภาวนาคือสติติดต่อกัน ให้เป็นวงกลมตลอดเวลาให้มีสติอยู่สม่ำเสมอ ให้รู้ให้เห็น ให้เห็นอาการที่มันเกิดขึ้นมาในจิตของเรา เห็นเกิดขึ้นมา อย่าไปยึดมั่น อย่าไปหมายมั่น ปล่อยมัน วางมันไว้เช่นนี้ ปฏิบัติเช่นนี้ เร็ว เร็วมาก มีแต่เห็นอารมณ์เท่านั้นแหละ อารมณ์ที่ชอบ อารมณ์ที่ไม่ชอบ
ทุกวันนี้เราทุกคนน่ะไม่รู้จักกิเลสตัณหามีคนๆเดียวนั่นล่ะที่มันหลอกตัวอยู่วันยังค่ำ ดูซิเราเกิดมามีอะไรไหม ก็คนๆเดียวนั่นแหละมันพาให้เราหัวเราะอยู่มี่นี่ ร้องไห้ โศกเศร้าอยู่ที่นี่ วุ่นวายอยู่นี่แหละ มันก็คือคนๆเดียวกัน ถ้าเราไม่พิจารณา ไม่ดูตามแล้ว ยิ่งไม่รู้จักมัน มันก็เกิดทุกข์อยู่ตลอดเวลา ได้มาก็เคยเสียอยู่ เสียแล้วก็เคยได้มาอยู่ ก็พลอยสุขกับมัน ทุกข์กับมัน ยึดมั่นหมายมั่นกับมันตลอดเวลาอยู่เช่นนี้ เพราะไม่ดูมัน ไม่พิจารณา ของทั้งหลายนี้ไม่ได้อยู่ที่อื่น มันอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราพิจาณาที่ตัวเราอยู่เช่นนี้ เราจะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าของเรา
ต้นไม้ทุกต้นเปรียบเหมือนมนุษย์ ก้อนหินทุกก้อนเปรียบเหมือนมนุษย์ สัตว์ทุกตัวในป่าในทุ่งก็ดี มันก็เหมือนกับเรา ไม่แปลกกับเรา มีสภาวะอันเดียวกัน มีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น แล้วก็มีความแปรในท่ามกลาง แล้วก็มีความดับไปในที่สุด เหมือนกันทั้งนั้น ฉะนั้นเราไม่ควรยึดมั่น หรือถือมั่นอะไรทั้งหลาย แต่ว่าเราต้องใช้มันอยู่ เช่นกระติกน้ำใบนี้ เขาเรียกว่ากระติก เราก็เรียกว่ากระติกกับเขา เพราะว่าเราจะมีความเกี่ยวข้องกับกระติกน้ำอยู่ตลอดเวลา เขาเรียกกระติก ก็เรียกกับเขา เขาเรียกกระโถนก็เรียกกับเขา เขาเรียกจานก็เรียกกับเขา เขาเรียกถ้วยก็ถ้วยกับเขา แต่เราไม่ติดอยู่กับถ้วย ไม่ติดอยู่กับจาน ไม่ติดอยู่กับกระโถน ไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในนั้น นี่เรียกว่าเราภาวนา รู้จักตัวเรา และรู้จักของเรา
รู้จักตัวเราแล้วก็ไม่ทุกข์เพราะตัวเรา รู้จักของเราแล้วก็ไม่ทุกข์กับของเรา อันนี้เพราะเราทำกรรมฐาน ปัญญามันจะเกิดขึ้นอย่างนี้ มันจะเห็นไปตามสภาวะมันเองทุกๆอย่าง อันนี้เป็น โลกุตตรปัญญา ปัญญาเกิดจาการภาวนา(ภาวนามยปัญญา) มันพ้นจากโลกียวิสัย เมื่อจิตสงบรวมกำลังจิตตรงที่นั้น เกิดรู้ เกิดเป็นญาณขึ้นมา เป็นความรู้โลกุตตระอันนั้น
ความรู้โลกุตตระอันนี้ พูดให้ก็ไม่รู้เรื่อง อกฺขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก คือพระพุทธเจ้าบอกให้ได้ แต่ว่าทำให้ไม่ได้ เรื่องการประพฤติปฏิบัติมันเป็นเช่นนั้น ฉะนั้น อดทนแล้วก็เพียร สอบอารมณ์เรื่อยๆ ไป ถึงคราวเราทำความเพียร เราก็ทำไป ออกจากสมาธิก็พิจารณา เห็นมดก็พิจารณา เห็นสัตว์อะไรก็พิจารณา เห็นต้นไม้ก็พิจารณา ทุกอย่างเหมือนเรา ทุกอย่างน้อมเข้ามาหาตัวเรา เหมือนเราทั้งนั้น อย่างใบไม้มันจะหล่นลงไป ใบไม้มันจะขึ้นมาใหม่ ต้นไม้มันจะเล็ก ต้นไม้มันจะใหญ่ อะไรทั้งหลายนี้มันล้วนแต่เกิดปัญญาทั้งนั้น ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอะไรทั้งนั้น เมื่อจิตเรารู้จักการปล่อยวางเช่นนี้แล้วก็จะเกิดความสงบ ความสงบไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ มันสงบเรียกว่าได้ความพอดี เหมาะสม ด้วยความรู้สึกนึกคิดของเรานั้นเรียกว่า เป็นธรรม
ผู้ที่ฝึกแล้วก็จะพอมองเห็น ผู้ที่ยังไม่เคยฝึกนี้ มันก็เป็นของลำบากสักนิดหนึ่ง เราอย่าไปน้อยใจมัน อย่าไปตกใจมัน มันก็เหมือนนักเรียนนั่นแหละ เพิ่งเข้าโรงเรียนจะให้เขียนหนังสือได้อ่านหนังสือได้ เขียนหนังสือให้มันสวยงามมันก็ไม่ได้ อาศัยการฝึก อาศัยการกระทำ อาศัยการประพฤติอาศัยกาปฏิบัติ แล้วมันก็เป็นไป
การตั้งไว้ในใจของผู้ประพฤติปฏิบัตินี้ ให้เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น ให้สอนตัวเอง ไม่ต้องพยายามสอนคนอื่นให้มากที่สุด เดินไปก็ให้สอนตัวเองทั้งนั้น นั่งก็ให้สอนตัวเองได้ ทุกอย่างให้มีในตัวของเราอยู่เสมอเรียกว่าสติ สตินั่นแหละเป็นแม่บทของผู้เจริญกรรมฐาน สติอันนั้นเมื่อมันมีความรู้สึกขึ้นปัญญาก็จะวิ่งมา ถ้าสติไม่มีปัญญาก็เลิก ไม่มี ฉะนั้นจงพากันตั้งใจ ถึงแม้ว่าเราจะมีเวลาน้อยก็ช่างมัน เวลาน้อยก็ยังเป็นอุปนิสัย ยังเป็นปัจจัยอย่างอื่นจะหาเป็นที่พึ่งอย่างพุทธศาสนานี่ไม่มี มันจบอยู่ตรงนี้ ไปไหนก็ไม่จบ แต่พุทธศาสนาทำให้มันจบอยู่ตรงนี้
ถ้าเราไม่เห็นเดี๋ยวนี้ ต่อไปก็ต้องเห็น ถ้าเราพิจารณาเช่นนี้ต่อๆไป ยังเป็นคนใหม่ ประพฤติใหม่ปฏิบัติใหม่ก็ยังไม่เห็น ก็เหมือนกับเราเป็นเด็ก เรายังไม่เห็นสภาพของคนแก่ ทำไมไม่เห็นล่ะ ฟันเราก็ยังดีอยู่ ตาเราก็ยังดีอยู่ หูเราก็ยังดีอยู่ ร่างกายเราก็ยังดีอยู่ ไม่รู้จักคนแก่ แต่ต่อไปเมื่อเราเป็นคนแก่ เราจะรู้จัก ใครจะบอก สังขารมันจะบอก ฟันมันจะโยก นี่แก่แล้ว ตามันจะไม่สว่าง หูมันจะตึง สภาวะร่างกายมันจะเจ็บปวดไปหมด นี่คนแก่มันเป็นอย่างนี้ ใครมาบอก สังขารนี้บอกเอง ถ้าเราพิจารณาอยู่ คือสัญชาตญาณมันมีอยู่ เช่นพวกปลวกหรือแม้ผึ้ง ผึ้งใครไปสอนมัน เมื่อมันทำรัง มันมีลูก มันทำรังกันสวยๆ ถ้ามันแก่มันก็ออกไปเป็นรังใหม่ ลูกๆผึ้งมันก็ไปทำรังใหม่ ใครไปสอนมัน มันทำรังกันสวยๆ
นกก็เหมือนกัน ตามป่านะ โดยเฉพาะนกกระจาบ นกกระจอก มันทำรังกันสวยๆ ใครไปบอกมัน เมื่อมันโตมันก็บินจากพ่อแม่มันไป มันไปทำรังเหมือนพ่อแม่มัน ใครจะไปบอกมัน ปลวกก็เหมือนกัน ใครไปบอกมัน สัญชาตญาณมันมี มันทำของมันเอง สัญชาตญาณอันนี้ที่มีอยู่ในใจของเรานี้ เราก็ไม่รู้ตัวเรา ถ้าเราไม่มาเรียนรู้ธรรม ก็ไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ความเป็นจริงคนทุกๆคนนั่นแหละ แต่มันทำดีไม่เหมือนกัน มันตามหาความสุขไม่เหมือนกัน มันต่างกันเพราะปัญญา
สัญชาตญาณที่มันมีอยู่ในใจเรานั้น เราไม่รู้จักมัน มันปกปิดอย่างสนิท อย่างชนิดไม่รู้ไม่เห็น เมื่อธรรมชี้ไปมันจึงจะเห็น เช่นว่าเรานั่งอยู่นี่ ร่างกายของเราทุกส่วนนี่โดยสภาพแล้ว พระพุทธเจ้าท่านว่า ไม่มีชิ้นไม่มีอะไรมันจะสวยมันจะสะอาดเลย ท่านตรัสอย่างนี้ ไม่สวยไม่สะอาด และไม่เป็นแก่นเป็นสาร เราก็ยังไม่เห็น เรานึกว่าอันนี้มันสวยอยู่ อันนี้มันสะอาดอยู่ อันนี้มันดีอยู่ ทำไมมันเป็นอย่างนั้นเล่า ของไม่สวยแต่มันก็เห็นว่าสวย ของไม่สะอาดทำไมเห็นว่าสะอาด ของไม่เป็นแก่นสารทำไมเห็นว่าเป็นแก่นสาร ของนี้ไม่ใช่ตัวเรา ทำไมจึงเข้าใจว่าเป็นตัวเรา อันนี้มันก็มืดอยู่พอแล้ว มันน่าจะเห็นนี่
ธรรมชาติอันนี้มันก็ไม่ใช่ตัวตนเราจริงๆ มันจะเจ็บจะไข้เมื่อไหร่ก็เจ็บก็ไข้ มันจะตายเมื่อไหร่มันก็ตาย มันไม่ห่วงเราทั้งนั้นแหละ อันนี้เราก็ยังไม่เห็นมัน มันน่าจะเห็น ทำไมไม่เห็นล่ะ นี้มันก็มืดพออยู่แล้ว ที่มันไม่เห็นนี่น่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ได้แยกสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ออกมาจนจิตของท่านเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นจริงๆ ชัดๆ ไม่ใช่สัญญา(ความจำ) สังขารร่างกายมันจะเป็นอย่างไร ก็ให้มันเป็นไปตามเรื่องของมัน ท่านเห็นเช่นนั้น
การกำหนดพิจารณา เรียก ภาวนากรรมฐาน เพื่อให้มันเห็น ขนาดนั้นมันยังไม่ค่อยจะเห็น อันใดมันไม่สวย อันใดมันไม่เป็นแก่นเป็นสาร มันก็เห็นว่าเป็นแก่นเป็นสาร นี่จิตมันไม่ยอม มันจึงไม่เห็น ท่านก็ว่าเยาว์ คือจิตมันเป็นเด็กอยู่ จิตมันยังเยาว์อยู่ จิตมันยังไม่เติบ จิตมันยังไม่โต เช่นนั้น พระพุทธศาสนานี้ท่านสอนส่วนจิต ให้จิตเป็นคนเห็น ถ้าจิตมันเห็นแล้ว จิตมันรู้ของมันแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง เรียกว่าการภาวนาเป็น
ฉะนั้นจึงค่อยๆทำ ค่อยๆประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะเอาวันสองวันสามวันให้ได้ให้เห็น เมื่อวานซืนนี้มีนักศึกษามาปรึกษา จะไปนั่งภาวนากรรมฐาน นั่งสมาธิ มันไม่สบาย มันไม่สงบ มาหาหลวงพ่อ ชาร์จแบตเตอรี่ให้ไม่ได้หรือ นี่อันนี้มันต้องพากันพยายาม พยายามทำกันไปเรื่อยๆ คนอื่นบอกมันไม่รู้จัก มันจะต้องไปพบด้วยตนเอง ไม่ต้องเอาทีละมากหรอก เอาน้อยๆ แต่เอาทุกวัน นั่งสมาธิทุกวัน แล้วก็เดินจงกรมทุกวัน มันจะมากหรือน้อยเราก็ทำทุกๆวัน แล้วก็เป็นคนที่พูดน้อย แล้วก็ดูจิตของตัวเองตลอดเวลา เมื่อดูจิตของตัวเอง อะไรมันจะเกิดขึ้นมา แล้วมันจะสุขหรือมันจะทุกข์อะไรเหล่านี้ เป็นของหลอกลวงทั้งนั้น
ผู้ที่เรียนศึกษามากๆนั้นนะ มันเป็นด้วยสัญญา ไม่ใช่ปัญญา สัญญาเป็นความจำ ปัญญาเป็นความรู้เท่าทัน มันไม่เหมือนกัน มันต่างกัน บางคนจำสัญญาเป็นปัญญา ถ้าปัญญาแล้วไม่สุขกับใคร ไม่ทุกข์กับใคร ไม่เดือดร้อนกับใคร ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนกับจิตที่มันสงบหรือไม่สงบ ถ้าสัญญาไม่ใช่อย่างนั้นนะ มันเกิดความยึดมั่นถือมั่น เป็นทุกข์เป็นร้อนไปตามอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น
สมถวิปัสสนา
ในการทำกรรมฐานนั้น มีอารมณ์อยู่สองอย่าง อารมณ์อย่างที่หนึ่งที่เรียกว่า ให้เรามีความสงบ อย่างที่สองเรียกว่า ให้เราเกิดปัญญา แล้วก็สงบทีหลัง อารมณ์ที่ให้เรามีความสงบนั้น ไม่ยากอะไรหรอก เหมือนเด็กๆ มันไม่แน่นอนน่ะ เราก็ไปจับกระเช้า(เปล) แกว่งไปมาเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็หลับ อารมณ์อันนี้เรียกว่า สมถกรรมฐาน มีหลายอย่าง บางคนไปจับเอาอานาปานสติบ้าง พุทโธบ้าง ธัมโมบ้าง สังโฆบ้างสารพัดอย่าง ต้องหาความสงบนี้เป็นเบื้องแรก
แต่ว่าความสงบอันนี้มันยังมีอะไรไปเจือปนมันอยู่ สงบเพราะว่าของมันมีอยู่ เราไม่รู้จักมัน มันก็สงบ เช่นว่าผ้าเช็ดเท้าที่ผมเหยียบอยู่เดี๋ยวนี้ มันมีงูตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ตรงนี้ ผมก็เอาเท้าเหยียบลงไป ผมไม่รู้สึกกลัวอะไรเลย เพราะผมไม่เห็นงู แต่ความจริงนั้นงูอสรพิษนี้อยู่ตรงนั้น แต่ผมไม่คิด ผมก็สบายใจ ไม่คิดกลัวอะไรต่ออะไร ที่ผมไม่กลัว ก็เพราะไม่รู้ว่างูอสรพิษนี้อยู่ตรงนี้ นี่คือสมถะ ทำจิตให้สงบ กิเลสมีอยู่ก็ช่างมันเวลานั้นฉันสงบ นี่เรียกว่าสงบจิต ไม่ใช่สงบกิเลส พูดตามภาษาอันนี้ เรียกว่า สมถะ การฝึกทำจิตให้สงบ แต่มันเป็นไวพจน์ซึ่งกันและกันหรอก เพื่อจะทำให้กิเลสสงบต่อไป
เรื่องทำให้กิเลสสงบต่อไปนั้น เป็นเรื่องของปัญญา เรื่องของปัญญานี้ก็มีเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้น ต้องเจริญอันนี้มากๆ ไม่เกิดเดี๋ยวนั้น ต่อไปมันก็จะเกิด ถ้าเจริญไม่หยุด ปัญญามันจะเกิดไม่หยุดต่อไป ผมก็พูดบ่อย แต่ว่าคนก็ไม่ค่อยเอาใจใส่หรืออย่างไรก็ไม่รู้ สังเกตดู มันถึงได้เป็นทุกข์กันอยู่เสมอ
เรื่องทำจิตให้สงบ เพื่อให้กิเลสสงบนั้นน่ะ ที่ผมว่าอารมณ์ของวิปัสสนา คือเรื่องอะไรบ้าง คือเรื่องอนิจจัง เรื่องทุกขัง เรื่องอนัตตา ๓ อย่างเท่านี้แหละ มันเป็นเหตุให้ปัญญาเราเกิด เราจะถูกอารมณ์ดีใจที่สุดก็ช่างเถอะ อย่าลืม ขบปัญหานี้ให้แตก อย่าลืม มันจะเกลียดขนาดไหน จะรักขนาดไหน จะเสียใจขนาดไหน จะดีใจขนาดไหนก็ตามเถอะ ซึ่งมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราควรบอกมันให้เข้าใจว่า อันนี้มันไม่แน่ ทุกครั้ง ไม่ใช่พูดออกทางปาก แต่พูดทางใจเสมอ อันนี้มันไม่แน่ อันนี้ที่จะพาเราพ้น ตอนนี้ปัญหามันจะเกิด ถึงแม้ตอนนี้เราไม่เห็น ต่อไปมันก็เห็น
ถ้าเราไม่ทิ้งจุดนี้ จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญที่ให้ปัญญาเราเกิดทั่วถึง ให้รู้จักทั่วถึง นี่เรียกว่า ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่มันเกิดขึ้น เห็นแต่ว่า มันเกิดแล้วดับไป จะเห็นอันนี้ชัดเจน จิตเราจะสงบ เมื่อจิตสงบ กิเลสก็สงบด้วย
ตรงนี้ ที่ว่าสมถะนั้น จิตมันสงบ กิเลสไม่สงบ ตอนนี้จิตสงบด้วย กิเลสสงบด้วย เพราะมันเป็นปัญญา ตรงนี้ให้เข้าใจ มันจะอยู่ไปเฉยๆ ก็ได้ การ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ได้ ถ้ามีอารมณ์วูบหนึ่งเกิดขึ้นมา มันดีใจเหลือเกินอย่างนี้ ให้ค่อยๆ พิจารณา ว่าอันนี้มันไม่แน่ มันก็แตกกัน มันไม่รวมกลุ่มกันเสียแล้ว แต่ถ้าไปคิดว่ามันแน่น่ะ มันก็จะรวมกลุ่มกัน แต่ความจริงแล้วอันนี้มันไม่แน่ ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ ความเห็นผิดมันค่อยวางจางคลายออกไปไม่รวมกลุ่มกันละ
บัว ๔ เหล่า
ภายในโคลนนั่นน่ะ มีความเหม็นสาบเหม็นเน่าสารพัดอย่าง แต่ดอกบัวทั้งหลายที่เกิดในที่นั้น ยิ่งสวย ยิ่งงาม ยิ่งต้นใหญ่ ลำใหญ่ ดอกใหญ่ โคลนทั้งหลายนั้นเป็นปุ๋ยของมัน บัวทั้งหลายมันชอบปุ๋ย ติณชาติทั้งหลายชอบปุ๋ย ได้ปุ๋ยแล้วมันงาม ปุ๋ยนั้นเป็นของโสโครก เป็นของสกปรก เป็นของเหม็น กลิ่นสารพัดอย่าง มันจะเหม็นเท่าไรๆ สกปรกเท่าใดๆบัวมันยิ่งชอบ ดอกมันยิ่งโต ลำมันยิ่งใหญ่ ยิ่งยาว ดอกบัวนั้นก็เปรียบกับจิตของเรา มันจมอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง คือราคะ โทสะ โมหะ สารพัดอย่าง อันนี้มันเป็นโคลน ที่เป็นโคลนนี้ ท่านจึงจัดว่า ดอกบัวมันอยู่ในตม ที่มันอยู่ในโคลนนั้นน่ะ ท่านบอกว่า มันเป็นดอกบัวที่เสี่ยง เสี่ยงเพราะอะไร มันอยู่ในโคลน ยังไม่มีหวังที่จะพ้นตมมาเลย มันจึงเป็นดอกบัวที่เสี่ยงมากทีเดียว มันเป็นเหตุที่ว่าเต่ามันก็จะกิน ปลามันก็จะกิน เพราะมันอยู่ในโคลน
จิตของเราก็เหมือนกันฉันนั้น ถ้ามันหมกอยู่ใน ราคะ โทสะ โมหะ มันเหมือนอยู่ในโคลน มัจจุราชตามเอาเป็นอาหารหมดละ มันอยู่ในโคลน มันหนาแน่น มันไม่ได้ยิน มันไม่ได้ฟัง มันไม่ได้อบรม มันหนา มันแน่น มันก็ยังมีที่หวังของมันจะเป็นได้หลายอย่าง จะเป็นปุถุชน หรืออันธพาล ชนทั้งหลายเป็นได้หลายอย่าง แล้วแต่จิตของตน
อีกคนหนึ่งนั้น อีกจิตหนึ่งนั้น มันจะพ้นตมขึ้นมาแล้ว แต่มันอยู่ในกลางน้ำ ดอกบัวนี้ก็ยังเสี่ยงอยู่เหมือนกัน นี่เพราะว่ามันจะเป็นอาหารเต่าหรือปลาอยู่เสมอ ยังไม่พ้น
เหล่าที่ ๓ เสมอน้ำ พ้นตมแต่ยังเสมอน้ำ อันนี้ก็ยังเสี่ยงอยู่เหมือนกัน ยังจะเป็น อาหารของปลาและเต่าอยู่ทั้งนั้น อันนี้มันเกิดความรู้สึกขึ้นมา มีญาณของพระพุทธเจ้าของเราที่ท่านหยั่งซึ้งลงไปว่า สัตว์โลกเป็นอย่างไร
เหล่าที่ ๔ นี้เรียกว่า พ้นโคลน พ้นตมพ้นน้ำมาจะบานแล้ว บัว ๔เหล่านี้คือ อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ นั่นแหละ
พระพุทธเจ้าของเราจึงมาตรัสเสียว่า เออ มันเป็นอยู่อย่างนี้ โลกมันก็ต้องเป็นอย่างนี้อยู่ ไม่ให้มันเป็นอย่างนี้ มันก็ไม่เป็นโลก จะต้องทำอย่างไร พระพุทธเจ้ารู้แจ้งโลกนี้ดี จึงทรงชื่อว่า โลกวิทู ในจิตของท่าน รู้แจ้งโลกว่า มันเป็นอย่างนี้ เหมือนบัวในตมในโคลนมันเหม็นสาบ ดอกบัวไปเกิดที่ตรงน้ำ มันโผล่น้ำขึ้นมา มันมีกลิ่นหอมน่าทัศนาดูทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เพราะดอกบัวดอกนี้มันเกิดจากโคลนสกปรก จิตใจของเราทั้งหลายก็เหมือนกัน สัตว์โลกทั้งหลายก็เหมือนกัน มันปกปิดอยู่ด้วยอาสวธรรมทั้งหลายทั้งนั้นแหละ
ถึงพระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันตสาวกก็ดี ก็ต้องเกิดมาจากโคลนอย่างนั้น มีราคะ โทสะ โมหะปกคลุมอยู่ทั้งนั้นแหละ หุ้มห่ออยู่ทั้งนั้นแหละ แต่พระพุทธองค์ก็ทรงพ้นมาได้ สาวกทั้งหลายก็พ้นมาได้ ท่านแยกกันอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่มีอันนั้นเป็นเหตุ ผลมันก็เกิดขึ้นไม่ได้
ธาตุ ๔
จิตนี้มันคล้ายกับแผ่นดินหรือแผ่นน้ำ หรือลม หรือไฟ สมมุติตัวเรานี้ ก็เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลมเท่านั้น ไม่มีอะไร มันเป็นอัตตาไปเลย ไม่ใช่ก้อนอัตตานี้แล้ว นี่ท่านจึงว่า ทำจิตเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม ร่างกายที่เรียกกันว่า เราๆ เขาๆ อันนี้มันก็ไม่ใช่เราๆ เขาๆ
ตามธรรมดา ตามธรรมชาติ ความเป็นจริงมันก็สักว่า ธาตุนั่นแหละ คือเป็น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้นแหละ ดังนั้น ท่านจึงว่าอย่างนี้ เราจะต้องเป็นธาตุเสีย ยอมให้มันเป็นดินเสีย เป็นน้ำเสีย เป็นไฟเสีย เป็นลมเสีย
ดิน ปกติเราจะเอาจอบไปขุดมันก็ไม่มีอะไร จะเอาของเหม็นไปถ่ายเทใส่ ดินก็อยู่อย่างนั้น
ลม ก็เหมือนกัน ลมพัดไปมา เบื้องล่าง เบื้องบน ของสกปรกรกรากทั้งหลายก็พัดไป เออ มันเป็นเรื่องธรรมดา มันก็เป็นลม
ไฟ ก็เหมือนกันความอบอุ่นที่อยู่ในร่างกายของเรานี้เป็นไฟ ไฟธรรมดานี้ไปเผาอะไรได้ไหม ไฟเผาของเหม็นก็ได้ ของหอมก็ได้ สกปรกรกรากสารพัดอย่าง ไฟไม่มีอะไร ไฟก็คงเป็นไฟอยู่อย่างนั้น
น้ำ ก็เหมือนกัน น้ำธรรมดาทุกวันนี้ นี่ก็พูดถึงน้ำใจของท่านที่จะอุส่าห์โปรดสัตว์โลก ก็เหมือนน้ำธรรมดา จะทำเป็นน้ำหอมก็ได้ น้ำเหม็นก็ได้ ล้างของสกปรกก็ได้จะไปทำอะไรก็ได้ จะไปทำให้มันเย็นเป็นก้อนก็ได้ จะไปทำให้มันร้อนเหมือนกับไฟอีกก็ได้ แต่มันก็เป็นน้ำของมันอยู่
ตกลงตัวท่านก็เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม มันจะถูกอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ชอบใจ ไม่ชอบใจ มันสักแต่ว่ารู้ ไม่มียึด เหมือนกับดิน กับน้ำ กับลม กับไฟ มันจึงไม่ยึดมั่นถือมั่น อะไรทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ตัวท่านก็คงเป็นเพียงธาตุ ๔
มรรค ๘
พวกเราทั้งหลายครอบครองทรัพย์สมบัติภายนอกตัวมามากแล้ว จงเข้ามาเปลี่ยนเป็นทรัพย์ภายใน อันนี้มันจะพ้นจากอุทกภัย วาตภัย โจรภัย อะไรต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้ เข้าไม่ถึงแล้ว เพราะว่าเข้าถึงจุดมัน คือ ที่ความสบายใจหรือความดีใจที่ฝังไว้ในวิญญาณอันนี้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าของเราท่านจึงได้ว่า บุญไม่อยู่ภายนอก แต่เข้ามาข้างในเสียแล้ว ท่านจึงจัดเป็น อริยทรัพย์ หรือทรัพย์ภายในซึ่งน้ำท่วมไม่ได้ ไฟไหม้ไม่ได้ โจรลักไปไม่ได้ ส่วนนี้โยมจะสบาย ส่วนที่บริจาคไปวันนี้เก็บเข้าบัญชีไว้ดีๆ แล้วพ้นอันตรายสบายใจๆ อันนี้ไม่มีโทษอะไร ฉะนั้นการบริจากนี้ เป็นการปราบกิเลสส่วนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าตัวโลภะ ทำใจเราให้มัวหมอง เมื่อจิตมัวหมองแล้วท่านจะได้ทุกข์ไปตามอันนั้น การกระทำวันนี้ของญาติโยมทั้งหลายเป็นไปในทำนองนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านสอนว่าการ ให้ทาน การรักษาศีล การเจริญเมตตาภาวนา นั้นรวมเข้าไปหาจุดอันเดียวๆ คืออันใด อยู่ที่ไหน จุดอันเดียวเพื่อจะให้ถึงความสงบ เมื่อสงบแล้วเรียกว่ามันจบ ก่อนจะจบนั้น เราจะรู้เรื่องว่า เราจะทำอย่างไรเราจึงสงบ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อจิตเราไม่สงบเราจะทำอย่างไรมันถึงจะสงบ ถ้าเมื่อสงบแล้วก็ถึงจุดของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรานั้นนะที่ท่านต้องการที่สุด
เรื่องที่จิตของเราที่ไม่สงบนั้น เพราะว่าจิตของเรานั้นน่ะไม่เข้าถึงธรรมะอันแท้จริง ไม่ถึงจุดธรรมะอันแท้จริง จิตเรายังโง่อยู่ ยังไม่ฉลาด ไม่มีปัญญารู้เท่าตามความเป็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลาย นั้นที่เรียกว่าปฏิบัติธรรม อะไรมันเป็นธรรมะทุกอย่าง สิ่งที่ไม่เป็นธรรมะไม่มี คือของทุกสิ่งทุกอย่างนั้นแหละท่านเรียกว่าธรรมะ จะเป็นรูปที่เรามองเห็นด้วยตาก็ตามจะเป็นนามสิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาไม่ได้ก็ตาม เป็นธรรมกันทั้งหมดเลยทีเดียว นี่เรียกว่าธรรมะ เรียกว่าสภาวะ คือความเป็นอยู่อย่างนั้น มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น แม้พระพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นก็ตาม ไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม สภาวธรรมเป็นอยู่อย่างนั้นเอง ไม่แปรเป็นไปอย่างอื่น
ทีนี้ความไม่สงบของเราทั้งหลายนั้น คือยังไม่ได้ประพฤติธรรม ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม เช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราท่านว่าให้เห็นอย่างถูกต้อง เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ตลอดไปจนถึง สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ องค์ของมรรคมี ๘ อย่าง แต่มรรคมีอันเดียว คือ เอกายนมรรค เป็นมรรคอันเดียว และเป็นของบุคคลที่จะสัญจรไปคนเดียว ไปแต่ผู้เดียว แต่ว่ามีองค์ ๘ ประการ
เมื่อเรามาเห็นชอบ ดำริมันก็ชอบ วาจามันก็ชอบ การงานก็ชอบ เลี้ยงชีวิตมันก็ชอบ พยายามก็ชอบ ตั้งสติมันก็ชอบ ตั้งใจก็ชอบ มันชอบที่ตรงไหน มันชอบอยู่ที่ใจของเรานี้แหละ จะไปตรงไหนก็ช่างมัน มันออกจากจิตดวงนี้ เห็นชอบออกจากจิต ดำริชอบมันออกจากจิต เมื่อจิตมันตั้งไว้ชอบแล้ว มันจะชอบกันไปหมดนั้น และไม่มีอะไรที่จะไม่ชอบ มรรคทั้งหลายเหล่านี้มันสามัคคีกันขึ้นที่จิตใจของเราเป็นอันเดียวคือ ความสงบ จุดนี้เป็นทางที่องสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราท่านตรัสว่าให้เดินมรรคอันนี้เป็น สัมมามรรค
ถ้าเราคิดให้จิตใจสงบ เช่นว่าเราถูกอารมณ์อันใดเกิดขึ้นมา ถ้าเราเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบแล้ว ทุกอย่างมันก็ชอบทั้งนั้นแหละ ไม่มีผิด เพราะธรรมะสั่งสอนในการปล่อยวาง ไม่มีอะไร เมื่อมีความสุขเกิดขึ้นมา อันความสุขนี้ท่านก็สอนว่าสักแต่ว่าสุข ทุกข์เกิดขึ้นมานี้ พระพุทธเจ้าก็สอนว่า อันนี้ก็สักแต่ว่าเป็นทุกข์ ไม่มีใครสุข และไม่มีใครทุกข์ เป็นแต่ความรู้สึกเกิดขึ้นมาเฉยๆ ท่านจึงว่าสักว่าเป็นสุข สักแต่ว่าเป็นทุกข์ ความสุขทุกข์อันนี้มันเกิดขึ้นมามีอยู่ แต่ว่าเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว อาการของสุขนี้มันก็เกิดขึ้นมา แต่ว่าหาเจ้าของสุขนั้นไม่มี ไม่มีใครเป็นเจ้าของ บางทีทุกข์ก็เกิดขึ้นมามีอยู่ แต่ว่าทุกข์นั้นมันเป็นมาตามเรื่องของมัน เกิดมาตามกิริยาของมัน มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ท่านจึงบอกว่า ถ้ามีความสุขแล้ว ก็ให้รู้ตามความเป็นจริงมันเสียว่า สุขนี้ก็สักแต่ว่าสุข ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ถ้าทุกข์เกิดขึ้นมาแล้วท่านก็ให้รับรู้ พิจารณามันว่า ทุกข์นี้ก็สักแต่ว่าทุกข์ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
การที่เราคิดเช่นนี้แหละเป็นสัมมาทิฏฐิ เราก็ไม่ได้เป็นเจ้าของสุขนั้นและทุกข์นั้น สุขทุกข์อันนั้นเป็นของที่ไม่มีเจ้าของ ถ้าใครเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ก็เข้าไปเป็นเจ้าของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อเข้าไปเป็นเจ้าของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น มันก็ไม่เพียงแต่เป็นทุกข์ มันไหลไปเรื่อยๆไป บางทีมันก็หายไป บางทีมันก็ไม่ได้มา แล้วก็ดีอกดีใจ แล้วก็เสียใจ ตามสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เพราะว่าตัวมิจฉาทิฏฐิมันเขามาแทรกให้มีความเห็นผิดเช่นนั้น เห็นผิดอะไร เราเข้าไปเป็นเจ้าของความสุข เราเข้าไปเป็นเจ้าของความทุกข์ เข้าไปแบกสุขทุกข์อันนั้นอยู่มันก็หนัก อันนี้มันเป็นมิจฉาทิฏฐิในทำนองอย่างนี้
ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เวทนานี้ก็สักแต่เวทนา ลงสักว่าอย่างนี้เวทนานั้นเป็นความเสวยสุขหรือทุกข์ ๒ ประการนั้นแหละ เวทนานี้ถ้ามันเกิดขึ้นมา สุขก็จัดเป็นสุขเวทนา ทุกข์ก็จัดเป็นทุกข์เวทนา ดังนั้น เกิดแล้วมันดับไป เจ้าของสุขทุกข์นั้นไม่มี พระพุทธเจ้าท่านพิจารณาอย่างนี้
เมื่อเราพิจารณาเข้าไปเช่นนี้บ่อยๆ เรียกจิตว่าเข้ามาดูซิว่า อันนี้คืออะไร สุขนี้คืออะไร ทุกข์นี้มันคืออะไร มันเป็นของแน่นอนไหม มันเที่ยงไหม หรือมันเป็นอย่างไร พิจารณาตามมันเถอะ เราพอมองเห็นไหมว่าสภาวะที่เป็นอยู่นั้นนะ เราเคยเป็นสุขมาไหม “เคย” แล้วมันหายไปมีไหม หายไปมันก็มี แล้วทุกข์เคยมีไหม เคยมีทุกข์ทุกคน แต่ว่ามันทุกข์ไปตลอดไหม บางทีมันก็หายไป เราจะไปเอาเรื่องราวอะไรกับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ นี้แหละเป็นอารมณ์อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้
เมื่อเรารู้สิ่งทั้งสองประการนี้ จิตเราก็สงบ ทำไมถึงสงบ เพราะเราไม่เข้าไปเป็นเจ้าของอะไรทั้งนั้น แต่ว่าเราใช้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้สบาย ถ้วยโถโอชาม จะมีในบ้านของเรา โต๊ะเก้าอี้อะไรที่มันมีอยู่นั้นก็ไม่ใช่ของเรา เราใช้ไปเพื่อไม่ใช่ของเรา แต่เราใช้มันตามสบายใจ โดยที่ไม่ต้องทุกข์ ใช้โดยผู้มีปัญญารอบคอบ ให้อยู่เหนือสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ให้รู้เหนือสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ถ้าไม่อยู่เหนือสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเราก็แบกมันโดยอุปาทานว่า อันนี้ของเราเรื่อยไป อันนี้แหละมันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นที่ผิดขึ้นมา เพราะทำให้เราเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะอะไร ผิดหวัง อันนั้นเธอจงเป็นอย่างนั้น อันนี้แกจงเป็นอย่างนี้ ไม่ได้ตามปรารถนาของเรา
พระพุทธเจ้าท่านสอน พุทธบริษัทเราทั้งหลายเพื่อให้พ้นจากวัฏฏสงสารทุกๆคน แต่ว่าเราสัตว์ผู้มีกิเลสหนา ปัญญาหยาบนั้นก็คิดไปอย่างหนึ่ง ที่ฟังธรรมะแล้วอะไรก็ไม่ใช่ของตนทั้งนั้น กลัวจะไม่ได้ก็ไม่สบายใจ ความเป็นจริงนั้น ที่ว่าของตนนั้น เป็นได้ แต่ว่านั้นเป็นของสมมุติ มันไม่เป็นวิมุติ เราต้องเรียนรู้มัน ลืมทุกอย่างนั้นแหละ มันเป็นของสมมุติ เช่นตัวของเรานี้ ชื่อเรานี้ มันมีชื่อมาแต่วันเราเกิดนะ เกิดมาแล้วมาตั้งชื่อใหม่ ชื่อเก่านั้นไม่มี ทำไมมันถึงไม่มี มันว่างอยู่ตรงนั้นแหละ ตรงที่ไหมมันว่าง ก็เอาอะไรไปวางตรงที่นั้นก็ได้ เอาไปวางตรงที่มันว่างๆ เพราะว่าสัตว์เกิดมามันว่างไม่มีชื่อ เราก็ตั้งชื่อให้มันเสียเลย เป็นสมมุติขึ้นมา เป็นนาย ก. นาย ข. นาย ค. ชื่อใหม่สมมุติที่ตรงนั้น ทำไมต้องสมมุติมัน เพราะตรงนั้นมันไม่มีอะไร จึงสมมุติว่าให้มันเป็นนาย ก. นาย ข.เสีย นาย ก. นาย ข. จึงถูกสมมุติขึ้นมา ไม่ใช่นาย ก.จริง นาย ข.จริง แต่เป็นนาย ก. นาย ข. สมมุติ มันไม่ใช่วิมุติ ถ้าไปถามถึงแล้ว จริงๆ มันจะไม่มีอะไร เป็นสภาวธรรมเท่านั้น เกิดมาแล้วต้องดับไป ดับไปแล้วเกิดขึ้นมา เกิดๆ ดับๆ อยู่เช่นนั้น สภาวะทั้งหลายเหล่านี้เมื่อเรานำเอาอันนี้ไปพิจารณาแล้วจะได้รู้แจ้งเห็นจริงแก่ตัวเอง