ARTICLES ON BUDDHISM

ธรรมปฏิสันถาร

ท่านเจ้าพระคุณพระโพธิญาณเถร
(พระอาจารย์ชา สุภัทโท)

อาตมาดีใจที่ได้มาเยี่ยมพระลูกชาย และพักอยู่ที่วัดหนองป่าพง อีกไม่กี่วันก็จะกลับไปแล้ว เลยถือโอกาสมาแสดงความดีใจ แต่ก็ไม่มีอะไรจะฝาก วัตถุสิ่งของอะไรที่ประเทศฝรั่งเศสนั้นก็มีมากมายอยู่แล้ว แต่ธรรมะที่จะบำรุงจิตใจของเราให้สงบ ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีเท่าไร

อาตมาไปสังเกตการณ์แล้ว เห็นมีแต่เรื่องที่จะทำให้เราวุ่นวายยุ่งยากลำบากตลอดกาลตลอดเวลา เจริญไปด้วยวัตถุทั้งหลาย เป็นกามรมณ์ มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่ยั่วยวนของบุคคลที่ไม่รู้จักธรรมะ ให้มีความวุ่นวายมาก ฉะนั้นจึงจะขอฝากธรรมะเพื่อไปปฏิบัติที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อจากวัดหนองป่าพง และวัดนานาชาติไปแล้ว

ธรรมะนี้เป็นสภาวะอันหนึ่ง ซึ่งจะตัดปัญหาความยุ่งยากในใจของมนุษย์ทั้งหลายให้น้อยลง จนกระทั่งหมดไป สภาวะอันนี้เรียกว่าธรรม เราควรจะศึกษา เอาไปศึกษาประจำวันและประจำชีวิต เมื่อมีอารมณ์อันใดมากระทบกระทั่งเกิดขึ้นจะได้แก้ปัญหามันได้ เพราะปัญหานี้มีทุกคน ไม่เฉพาะว่าเมืองไทยหรือเมืองนอก มันมีทุกแห่ง ถ้าคนไม่รู้จักแก้ปัญหาแล้ว ก็มีความทุกข์ความเดือดร้อนเป็นธรรมดา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นมาแล้ว หนทางที่จะแก้ไขมันคือปัญญา สร้างปัญญา อบรมปัญญา คือทำปัญญาให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา

สำหรับข้อประพฤติปฏิบัตินั้นก็ไม่มีอะไรมากอื่นไกล อยู่ในตัวของเรานี่เอง มีกายกับใจ คนเมืองนอกก็เหมือนกัน คนไทยก็เหมือนกัน มีกายกับใจเท่านั้นที่วุ่นวาย เป็นผู้วุ่นวาย ฉะนั้นผู้สงบระงับ ต้องมีกายกับใจสงบ

ความเป็นจริงนั้น ใจของเรามันเป็นปกติอยู่เปรียบเหมือนน้ำฝน เป็นน้ำที่สะอาด มีความใสสะอาด บริสุทธิ์ เป็นปกติ ถ้าหากเราเอาสีเขียวใสเข้าไป เอาสีเหลืองใส่เข้าไป น้ำก็จะกลายเป็นสีเขียว สีเหลืองไป

จิตเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อไปถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจก็ดี ใจก็สบาย เมื่อถูกอารมณ์ไม่ชอบใจแล้ว ใจนั้นก็ขุ่นมัวไม่สบาย เหมือนกับน้ำที่ถูกสีเขียว ก็เขียวไป ถูกสีเหลือง ก็เหลืองไป เปลี่ยนสีเรื่อยไป

ความเป็นจริงนั้น น้ำที่มันเขียว มันเหลือง ปกติของมันก็เป็นน้ำใสสะอาดบริสุทธิ์ คือน้ำฝน ปกติของจิตเรานี้ก็เหมือนกัน เป็นจิตที่ใสสะอาด เป็นจิตที่มีปกติ ไม่วุ่นวาย ที่จะวุ่นวายนั้นเพราะมันเป็นไปกับอารมณ์ มันหลงอารมณ์ พูดให้เห็นชัด อย่างขณะนี้เรานั่งอยู่ป่า มีความสงบเหมือนกับต้นไม้ ใบไม้นั้นถ้าไม่มีลมพัดมันก็นิ่ง สงบระงับอยู่ ถ้ามีลมมาพัด ใบมันก็กวัดแกว่งไปตามลม

จิตใจนี้ก็เหมือนกัน ถ้าอารมณ์มาถูก มันก็กวัดแกว่งไปตามอารมณ์ ยิ่งมันไม่รู้เรื่องธรรมะแล้ว ก็ยิ่งปล่อยไปตามอารมณ์ของเจ้าของเรื่อยไป อารมณ์สุขก็ปล่อยตามไป อารมณ์ทุกข์ก็ปล่อยตามไป วุ่นวายไปเรื่อยๆ จนชาวมนุษย์ทั้งหลายเกิดเป็นโรคประสาท เพราะไม่รู้เรื่อง ปล่อยไปตามอารมณ์ ไม่รู้จักตามรักษาจิตของเจ้าของ จิตของเรานี้เมื่อไม่มีใครตามรักษา มันก็เหมือนคนคนหนึ่งที่ปราศจากพ่อแม่ที่จะดูแล เป็นคนอนาถา ความอนาถานั้นเป็นคนที่ขาอที่พึ่ง คนขาดที่พึ่งก็เป็นทุกข์ จิตนี้ก็เหมือนกันถ้าหากขาดการอบรมบ่มนิสัย ทำความเห็นให้ถูกต้องแล้ว จิตนี้ก็ลำบากมาก

ในทางพุทธศาสนา การทำจิตให้สงบระงับนี้ ท่านเรียกว่าทำกรรมฐาน ฐานคือเป็นที่ตั้ง กรรม คือการงาน ที่เราจะต้องทำขึ้น ให้มีกายเราเป็นส่วนหนึ่ง จิตเราเป็นอีกส่วนหนึ่งมีสองอย่างเท่านั้นแหละ กายนี้เป็นสภาวธรรม เป็นรูปธรรมที่เรามองเห็นด้วยตาของเรา จิตเป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง เป็นนามธรรมซึ่งไม่มีรูป มองด้วยตาไม่ได้ แต่เป็นของมีอยู่ ตามภาษาสามัญก็เรียกว่า กายกับใจ กาย เรามองเห็นด้วยตาเนื้อ จิตมองเห็นด้วยตาใน คือตาใจ มีอยู่สองอย่างเท่านั้น มันวุ่นวายกัน

ฉะนั้นการฝึกจิตที่จะฝากโยมวันนี้ก็คือเรื่องกรรมฐานให้ไปฝึกจิต เอาจิตพิจารณากาย

จิตนี้คืออะไร

จิตมันก็ไม่คืออะไร มันถูกสมมุติว่า คือ ความรู้สึก ผู้ที่รู้สึกอารมณ์ ผู้ที่รับรู้อารมณ์ทั้งหลายในที่นี้เรียกว่าจิต ใครเป็นผู้รับรู้ ผู้รับรู้นั้นถูกเขาเรียกว่า “จิต” รับรู้อารมณ์ที่สุขบ้าง อารมณ์ที่ทุกข์บ้าง อารมณ์ดีใจบ้าง อารมณ์เสียใจบ้าง ใครมีภาวะที่จะรับรู้อารมณ์เหล่านี้ ท่านเรียกว่าจิต

อย่างเช่น อาตมาพูดให้ฟังในขณะนี้ จิตเรายังมี จิตเรารับรู้ว่า พูดอะไร อย่างไร มันเข้าไปทางหู รู้ว่าพูดอะไร เป็นอย่างไร ก็รู้จัก ผู้รับรู้นี้เรียกว่าจิต

จิตไม่มีตัว จิตไม่มีตน จิตไม่มีรูป จิตเป็นผู้รับรู้อารมณ์เท่านั้น ไม่ใช่อื่น ถ้าหากว่าเราสั่งสอนจิตอันนี้ ให้มีความเห็นที่ถูกต้องดีแล้ว จิตนี้ก็จะไม่มีปัญหา จิตก็จะสบาย จิตก็เป็นจิต อารมณ์ก็เป็นอารมณ์ อารมณ์ไม่เป็นจิต จิตไม่เป็นอารมณ์ เราพิจารณาจิตกับอารมณ์นี้ให้เห็นชัด จิตเป็นผู้รับรู้อารมณ์ที่จรเข้ามา จิตกับอารมณ์ สองอย่างนี้มากระทบกันเข้าก็เกิดความรู้สึกทางจิต ดีบ้าง ชั่วบ้าง ร้อนบ้าง เย็นบ้าง สารพัดอย่าง ทีนี้เมื่อเราไม่มีปัญญาแก้ไข ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ก็ทำให้จิตของเรายุ่ง

การทำจิตของเราให้มีรากฐาน คือกรรมฐาน เอาลมหายใจเข้าออกเป็นรากฐาน เรียกว่าอานาปานสติ ทีนี้จะยกเอาลมเป็นกรรมฐาน เป็นอารมณ์

การทำกรรมฐานมีหลายอย่างมากมาย มันก็ยากลำบาก เอาลมนี้เป็นกรรมฐานดีกว่า เพราะว่าลมหายใจนี้เป็นมงกุฎกรรมฐานมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์มาแล้ว พอเรามีโอกาสดีๆ เราเข้าไปนั่งสมาธิ เอามือขวาทับมือซ้าย เอาขาขวาทับขาซ้าย ตั้งกายให้ตรง แล้วก็นึกในใจของเราว่า บัดนี้เราจะวางภาระทุกสิ่งทุกอย่างให้หมดไป ไม่เอาอะไรมาเป็นเครื่องกังวล ปล่อย...ปล่อยให้หมด แม้จะมีธุระอะไรอยู่มากมาย ก็ปล่อย ปล่อยทิ้งในเวลานั้น สอนจิตของเราว่า จะกำหนดตามลมอันนี้ ให้มีความรู้สึกอยู่แต่ลมอันเดียว แล้วก็หายใจเข้า หายใจออก

การกำหนดลมหายใจนั้น อย่าให้มันยาว อย่าให้มันสั้น อย่าให้มันค่อย อย่าให้มันแรง ให้มันพอดีๆ

สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัวอันเกิดจากจิตนั้น ให้รู้ว่าลมออก ให้รู้ว่าลมเข้า สบาย ไม่ต้องนึกอะไร ไม่ต้องคิดไปโน่น ไม่ต้องคิดไปนี่ ในเวลาปัจจุบันนี้เรามีหน้าที่ ที่จะกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อย่างเดียว ไม่มีหน้าที่จะไปคิดอย่างอื่น ให้มีสติความระลึกได้ตามเข้าไป และสัมปชัญญะความรู้ตัวว่า บัดนี้ เราหายใจอยู่ เมื่อลมเข้าไป ต้นลมอยู่ปลายจมูก กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่สะดือ เมื่อหายใจออก ต้นลมอยู่สะดือ กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่ปลายจมูก ให้รู้สึกอย่างนี้

หายใจเข้า ๑. จมูก ๒. หทัย ๓. สะดือ

หายใจออก ๑. สะดือ ๒. หทัย ๓. จมูก

กำหนดอยู่สามอย่างนี้ หายความกังวลหมด ไม่ต้องคิดเรื่องอื่น กำหนดเข้าไป ให้รู้ต้นลม กลางลม ปลายลม สม่ำเสมอ จิตของเราจะมีความรู้สึก ต้นลม กลางลม ปลายลม ตลอดเวลา

เมื่อทำไปเช่านี้ จิตอันควรแก่การงานก็จะเกิดขึ้น กายก็ควรแก่การงาน การขบเมื่อยทั้งหลายจะค่อยๆหายไปเรื่อยๆ จิตก็จะรวมเข้า ลมหายใจก็จะละเอียดเข้า น้อยลงๆ เราทำแบบนี้เรื่อยๆ จนกว่าจิตมันจะสงบระงับลงเป็นหนึ่ง

เป็น “หนึ่ง” คือจิตมันจะฝักใฝ่กับลม ไม่แยกไปที่อื่น ไม่วุ่นวาย ต้นลมก็รู้จัก กลางลมก็รู้จัก ปลายลมก็รู้จัก เมื่อจิตสงบระงับแล้ว เราจะรู้อยู่แต่ต้นลม ปลายลมปลายลมก็ได้ไม่ต้องตามลงไป เอาแต่ปลายจมูกว่า มันออก มันเข้า จิตเป็นหนึ่งอยู่กับลมหายใจเข้าออกกันเดียวตลอดไป

การทำจิตเช่นนี้ เรียกว่า ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้เกิดปัญญา อันนี้เป็นเบื้องต้น เป็นรากฐานของกรรมฐาน ให้พยายามทำทุกวัน ทุกวัน จะอยู่ที่ไหนก็ได้ จะอยู่บ้านก็ได้ จะอยู่ในรถก็ได้ อยู่ในเรือก็ได้ นั่งอยู่ก็ได้ นอนอยู่ก็ได้ ให้เรามีสติสัมปชัญญะควบคุมอยู่ตลอดกาล ตลอดเวลา อันนี้เรียกว่าภาวนา

การภาวนานี้ ทำได้ในอริยาบถทั้งสี่ ไม่ใช่ว่าจะนั่งอย่างเดียว จะยืนก็ได้ จะนอนก็ได้ จะเดินก็ได้ ขอแต่ให้เรามีสติ กำหนดอยู่เสมอว่า บัดนี้ จิตของเราอยู่ในลักษณะอย่างไร มีอารมณ์อันใดอยู่ จิตเป็นสุขไหม จิตเป็นทุกข์ไหม จิตวุ่นวายไหม จิตสงบไหม ให้เรารู้เห็นอย่างนี้ หมายความว่า ให้รู้จักความรับผิดชอบของจิตอยู่ตลอดเวลานี้เรียกว่า การทำจิตของเราให้สงบ

เมื่อจิตสงบแล้ว ปัญญามันจะเกิด ปัญญามันจะรู้ ปัญญามันจะเห็น เอาจิตสงบพิจารณาร่างกายของเรา ตั้งแต่ศรีษะลงไปหาปลายเท้า ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาหาศรีษะ พิจารณากลับไปกลับมาอยู่เรื่อย ให้เห็นเกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ เป็นกรรมฐาน ให้เห็นว่า รูปร่างกายทั้งหลายนี้ มีดิน มีน้ำ มีลม มีไฟ กลุ่มทั้งสี่กลุ่มนี้ ท่านเรียกว่ากรรมฐาน เรียกว่า ธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มาประชุมกันเข้า เรียกว่ามนุษย์ เรียกว่าสัตว์

พระบรมศาสดาของเราท่านสอนว่า อันนี้สักแต่ว่าธาตุเท่านั้น อวัยวะร่างกายของเรา สิ่งที่ข้นแข็ง มันเป็นธาตุดิน สิ่งที่มันเหลวไหลเวียนไปในร่างกาย ท่านเรียกว่าธาตุน้ำ ลมพัดขึ้นเบื้องบนลงเบื้องต่ำ ท่านเรียกว่าธาตุลม ความร้อนอบอุ่นในร่างกาย ท่านเรียกว่าธาตุไฟ

คนคนหนึ่ง เมื่อแยกออกแล้ว มีสี่อย่างนี้เท่านั้น คือมี ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ ไม่มีมนุษย์ไม่มี ไทยไม่มี ฝรั่งไม่มี เขมรไม่มี ญวนไม่มี ไม่มีใคร มีดิน มีน้ำ มีไฟ มีลม เท่านั้นที่เป็นอยู่ แล้วสมมุติว่าเป็นบุคคล เป็นสัตว์ขึ้นมา

ความเป็นจริงไม่มีอะไร ดินก็ดี น้ำก็ดี ลมก็ดี ไฟก็ดี ที่ประกอบกันเรียกว่ามนุษย์นี้ เป็นไปด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือเป็นของไม่แน่ เป็นของไม่ยั่งยืน เป็นของหมุนเวียนเปลี่ยนไป แปรไปอยู่อย่างนี้ ไม่ยั่งยืนอยู่กับที่ แม้แต่ร่างกายของเราก็ไม่แน่นอน เคลื่อนไหวไปมาอยู่เสมอ เปลี่ยนไป ผมก็เปลี่ยนไป ขนก็เปลี่ยนไป หนังก็เปลี่ยนไป สารพัดอย่างมันเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปหมด

จิตใจของเรานี้ก็เหมือนกัน มันก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ที่คิดไปสารพัดอย่าง มันไม่แน่นอน บางทีคิดฆ่าตัวตายเลยก็ได้ บางทีคิดสุขก็ได้ บางทีคิดทุกข์ก็ได้ ถ้าเราไม่มีปัญญา เราก็ไปเชื่อจิตอันนี้ มันก็โกหกเราเรื่อยไป เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง สลับซับซ้อนกันไป

จิตนี้มันเป็นของไม่แน่นอน กายนี้ก็เป็นของไม่แน่นอน รวมแล้วเป็นอนิจจัง รวมแล้วเป็นทุกขัง รวมแล้วเป็นอนัตตา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ พระบรมครูของเราท่านว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เรียกว่า ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นเอง

เอาจิตของเราพิจารณาลงไปให้มันเห็นชัด เมื่อมันเห็นชัดแล้ว อุปาทานที่ถือว่า เราสวยบ้าง เรางามบ้าง เราดีบ้าง เราชั่วบ้าง เรามีบ้าง เราอะไรๆ หลายอย่างมันก็ถอนไป เห็นสภาวะอันเดียวกัน เห็นมนุษย์ สัตว์ทั้งหลายเป็นอันเดียวกัน เห็นไทยเป็นอันเดียวกับฝรั่ง เห็นฝรั่งเป็นอันเดียวกับไทย เมื่อจิตเราเห็นเช่นนี้ มันก็ถอนอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นออกจากจิตใจของเรา

เมื่อพิจารณาเห็นอนิจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว มันก็น่าสังเวช ถอนอุปาทานออกแล้ว ไม่ได้ไปยึดว่าเป็นตัว ว่าเป็นตน ว่าเป็นเรา ว่าเป็นเขา จิตใจเห็นเช่นนี้ มันก็เกิดนิพพิทา ความเบื่อหนาย คลายความกำหนัด คือเห็นว่า มันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วจิตใจของเราก็หยุด จิตใจเราก็เป็นธรรมะ ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี มันจะลดน้อยถอยลงไปทุกทีๆ ผลที่สุดเหลือแต่ธรรม คือจิตนี้เป็นอยู่เท่านั้น นี้เรียกว่า การทำกรรมฐาน

ฉะนั้น จึงขอฝากโยมเอาไปพิจารณา เอาไปศึกษาประจำวันประจำชีวิต เอาไว้เป็นมรดกติดตัวสืบไป โยมเองไปพิจารณาแล้ว ใจก็จะสบาย ใจก็จะไม่วุ่นวย ใจก็จะสงบระงับ

กายวุ่นวายก็ช่างมัน ใจไม่วุ่นวาย

เขาวุ่นวายในโลก เราไม่วุ่นวาย ถึงความวุ่นวายในเมืองนอกมากมาย เราก็ไม่วุ่นวาย เพราะจิตเราเห็นแล้ว เป็นธรรมะแล้ว อันนี้เป็นหนทางที่ดี อันนี้เป็นหนทางที่ถูกต้อง ฉะนั้นจงจำคำสอนนี้ไว้ต่อๆไป

ธรรมะธรรมชาติ

ท่านเจ้าพระคุณพระโพธิญาณเถร
(พระอาจารย์ชา สุภัทโท)

บางครั้ง ต้นไม้ผลไม้ อย่างต้นมะม่วงเป็นดอกออกมาแล้ว บางทีถูกลมพัด มันก็หล่นลงตั้งแต่ยังเป็นดอก อย่างนั้นก็มี บางช่อเป็นลูกเล็กๆ ลมก็มาพัดไป หล่นทิ้งไปก็มี บางช่อยังไม่ได้ลูก เป็นดอกเท่านั้นก็หักไปก็มี

คนเราก็เหมือนกัน บางคนตายตั้งแต่ยังอยู่ในท้อง บางคนคลอดออกจากท้องอยู่ได้สองวันตายไปก็มี หรืออายุเพียงเดือน สองเดือน สามเดือน ยังไม่ทันโต ตายไปก็มี บางคนพอเป็นหนุ่มสาวตายไปก็มี บางคนก็แก่เฒ่าแล้วจึงตายก็มี

เมื่อนึกถึงคนแล้ว ก็นึกถึงผลไม้เห็นความไม่แน่นอน แม้นักบวชเราก็เหมือนกัน บางทียังไม่ทันได้บวชเลย ยังเป็นเพียงผ้าขาวอยู่ ก็พาผ้าขาววิ่งไปก็มี บางคนโกนผมเท่านั้น ยังไม่ได้บวชขาวด้วยซ้ำ ก็หนีไปก่อนแล้วก็มี บางคนก็อยู่ได้สามสี่เดือน ก็หนีไป บางคนอยู่ถึงบวชเป็นเณรเป็นพระ ได้สองพรรษา ก็สึกไปก็มี หรือสี่ห้าพรรษาแล้วก็สึกไปก็มี เหมือนกับผลไม้ เอาแน่นอนไม่ได้ ดอกไม้ ผลไม้ถูกลมพัดตกลงไป เลยไม่ได้สุก จิตใจคนเราก็เหมือนกัน พอถูกอารมณ์มาพัดไป ดึงไป ก็ตกไปเหมือนผลไม้

พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงเห็นเหมือนกัน เห็นสภาพธรรมชาติของผลไม้ ใบไม้ แล้วก็นึกถึงสภาวะของพระเณร ซึ่งเป็นบริษัทบริวารของท่าน ก็เหมือนกัน มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ย่อมจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติถ้ามีปัญญา พิจารณาดูก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีครูอาจารย์แนะนำพร่ำสอนมากมาย

พระพุทธเจ้าของเราที่จะทรงผนชในพระชาติที่เป็นพระชนกกุมารนั้น ท่านก็ไม่ได้ศึกษาอะไรมากมายท่านทรงเห็นต้นมะม่วงในสวนอุทยานเท่านั้น คือวันหนึ่งพระชนกกุมารได้เสด็จไปชมสวนอุทยานกับพวกอำมาตย์ทั้งหลาย ได้ทรงเห็นต้นมะม่วงต้นหนึ่งกำลังออกผลงามๆ มากมาย ก็ตั้งพระทัยว่าตอนกลับจะแวะเสวยมะม่วงนั้น

แต่เมื่อพระชนกกุมารเสด็จผ่านไปแล้ว พวกอำมาตย์ก็พากันเก็บผลมะม่วงตามใจชอบ ฟาดด้วยกระบองบ้าง แส้บ้างเพื่อให้กิ่งหักใบขาด จะได้เก็บผลมะม่วงมากิน

พอตอนเย็น พระชนกกุมารเสด็จกลับ ก็จะทรงเก็บมะม่วง เพื่อจะลองเสวยว่าจะมีรสอร่อยเพียงใด แต่ก็ไม่มีมะม่วงเหลือเลยสักผล มีแต่ต้นมะม่วงที่กิ่งก้านหักห้อยเกะกะ ใบก็ขาดวิ่น เมื่อไต่ถาม ก็ทรงทราบว่าพวกอำมาตย์เหล่านั้นได้ใช้กระบอง ใช้แส้ฟาดต้นมะม่วงอย่างไม่ปรานี เพื่อที่จะเอาผลของมันมาบริโภค ฉะนั้น ใบของมันจึงขาดกระจักกระจาย กิ่งของมันก็หักห้อยระเกะระกะ

เมื่อพระองค์ทรงมองมะม่วงอีกต้นหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆกันก็ทรงเห็นมะม่วงต้นนั้นยังมีกิ่งก้านแข็งแรง ใบดกสมบูรณ์มองดูน่าร่มเย็น จึงดำริว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็ทรงได้คำตอบว่า เพราะมะม่วงต้นนั้นไม่มีผล คนก็ไม่ต้องการมัน ไม่ขว้างปามัน ใบของมันก็ไม่หล่นร่วง กิ่งของมันก็ไม่หัก

พอพระองค์ทรงเข้าพระทัยในเหตุเท่านั้น ก็พิจารณามาตลอดทางที่เสด็จกลับ ทรงรำพึงว่า ที่ทรงมีความทุกข์ยากลำบาก ก็เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ ต้องทรงห่วงใยราษฎร ต้องคอยป้องกันแผ่นดินจากข้าศึกศัตรูที่คอยจะมาโจมตี ตรงนั้นตรงนี้อยู่วุ่นวาย แม้จะนอนก็ไม่เป็นสุข บรรทมแล้วก็ยังทรงฝันถึงอีก แล้วก็ทรงนึกถึงต้นมะม่วงที่ไม่มีผลต้นนั้นที่มีใบสดดูร่มรื่น แล้วทรงดำริว่า จะทำอย่างมะม่วงต้นนั้นจะไม่ดีกว่าหรือ

พอถึงพระราชวัง ก็ทรงพิจารณาอยู่แต่ในเรื่องนี้ ในที่สุดก็ตัดสินพระทัยออกผนวช โดยอาศัยต้นมะม่วงนั้นแหละเป็นบทเรียนสอนพระทัย ทรงเปรียบเทียบพระองค์เองกับมะม่วงต้นนั้น แล้วเห็นว่า ถ้าไม่พัวพันอยู่ในเพศฆราวาส ก็จะได้เป็นผู้ไปคนเดียว ไม่ต้องกังวลทุกข์ร้อน เป็นผู้มีอิสระ จึงออกผนวช

หลังจากทรงผนวชแล้ว ถ้ามีผู้ใดทูลถามว่า ใครเป็นอาจารย์ของท่าน พระองค์ก็ทรงตอบว่า “ต้นมะม่วง” ใครเป็นอุปัชฌาย์ของท่าน พระองค์ก็ทรงตอบว่า “ต้นมะม่วง” พระองค์ไม่ต้องการคำพร่ำสอนอะไรมากมาย เพียงแต่ทรงเห็นต้นมะม่วงเท่านั้น ก็ทรงน้อมเข้าไปในพระทัย เป็นโอปนยิกธรรม สละราชสมบัติ ทรงเป็นผู้มักน้อย สันโดษ อยู่ในความสงบผ่องใส

นี้คือในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ได้ทรงบำเพ็ญธรรมนี้มาโดยตลอด อันที่จริง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันเตรียมพร้อมที่จะสอนเราอยู่เสมอ ถ้าเราทำปัญญาให้เกิดนิดเดียวเท่านั้น ก็จะรู้แจ้งแทงตลอดในโลก

ต้นไม้เครือเขาเถาวัลย์เหล่านั้น มันแสดงลักษณะอาการตามความจริงตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้วถ้ามีปัญญาเท่านั้นก็ไม่ต้องไปถามใคร ไม่ต้องไปศึกษาที่ไหน ดูเอาที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น ก็ตรัสรู้ธรรมได้แล้วเหมือนอย่างพระชนกกุมาร

ถ้าเรามีปัญญา ถ้าเรามีสังวร สำรวมดูอยู่ รู้อยู่เห็นอยู่ตามธรรมชาติอันนั้น มันก็ปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้เท่านั้น เช่นว่า ต้นไม้ทุกต้นที่เราเห็นอยู่บนพื้นปฐพีนี้มันก็เป็นไปในแนวเดียวกัน เป็นไปในแนวอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เป็นของแน่นอนถาวรสักอย่าง มันเหมือนกันหมด มีเกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้น แปรไปในท่ามกลาง ผลที่สุดก็ดับไปอย่างนี้

เมื่อเราเห็นต้นไม้เป็นอย่างนั้นแล้ว ก็น้อมเข้ามาถึงตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวเราหรือบุคคลอื่นก็เหมือนกัน มีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น ในท่ามกลายก็แปรไป เปลี่ยนไป ผลที่สุดก็สลายไป นี่คือธรรมะ

ต้นไม้ทุกต้นก็เป็นต้นไม้ต้นเดียวกัน เพราะว่ามันเหมือนกัน โดยอาการที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้วก็แปรไป แล้วมันก็เปลี่ยนไป หายไปเสื่อมไป ดับสิ้นไปเป็นธรรมดา

มนุษย์เราทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าเป็นผู้มีสติอยู่ รู้อยู่ ศึกษาอยู่ด้วยปัญญา ด้วยสติสัมปชัญญะ ก็จะเห็นธรรมอันแท้จริง คือเห็นมนุษย์เรานี้เกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น เกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ เมื่อตั้งอยู่แล้วก็แปรไป แล้วก็เปลี่ยนไป สลายไป ถึงที่สุดแล้วก็จบ ทุกคนเป็นอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นทุกคนในสากลโลกนี้ ก็เป็นอันเดียวกัน ถ้าเราเห็นคนคนเดียวชัดเจนแล้ว ก็เหมือนกับเห็นคนทั้งโลก มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้

ทุกสิ่งสารพัดนี้เป็นธรรมะ สิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตา คือใจของเรานี้ เมื่อความคิดเกิดขึ้นมา ความคิดนั้นก็ตั้งอยู่ เมื่อตั้งอยู่แล้วก็แปรไป เมื่อแปรไปแล้วก็ดับสูญไปเท่านั้นนี่เรียกว่า “นามธรรม” สักแต่ว่าความรู้สึกเกิดขึ้นมา แล้วมันก็ดับไป นี่คือความจริง ที่มันป็นอยู่อย่างนั้นล้วนเป็นสัจธรรมทั้งนั้น ถ้าเราไม่มองดูตรงนี้ เราก็ไม่เห็น

ฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญา เราก็จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหน พระพุทธเจ้าอยู่ที่พระธรรม

พระธรรมอยู่ที่ตรงไหน พระธรรมอยู่ที่พระพุทธเจ้า อยู่ตรงนี้แหละ

พระสงฆ์อยู่ตรงไหน พระสงฆ์อยู่ที่พระธรรม

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็อยู่ในใจของเรา แต่เราต้องมองให้ชัดเจน บางคนเก็บเอาความไปโดยผิวเผิน แล้วอุทานว่า “โอ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจของฉัน” แต่ปฏิปทานั้น ไม่เหมาะไม่สมควร มันก็ไม่เข้ากันกับการที่อุทานเช่นนั้น เพราะใจของผู้อุทานเช่นนั้น จะต้องเป็นใจที่รู้ธรรมะ

ถ้าเราตรงไปที่จุดเดียวกันอย่างนี้ ก็จะเห็นว่า ความจริงในโลกนี้มีอยู่ นามธรรมคือความรู้สึกนึกคิด เป็นของไม่แน่นอน มีความโกรธเกิดขึ้นมาแล้ว ความโกรธตั้งอยู่แล้ว ความโกรธก็แปรไป เมื่อความโกรธแปรไปแล้ว ความโกรธก็สลายไป

เมื่อความสุขเกิดขึ้นมาแล้ว ความสุขนั้นก็ตั้งอยู่ เมื่อความสุขตั้งอยู่แล้วความสุขก็แปรไป เมื่อความสุขแปรไปแล้ว ความสุขมันก็สลายไปหมด ก็ไม่มีอะไร มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ทุกกาลเวลา ทั้งของภายใน คือนามรูปนี้ก็เป็นอยู่อย่างนี้ ทั้งของภายนอก คือต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ เหล่านี้มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่าสัจจธรรม

ถ้าใครเห็นธรรมชาติก็เห็นธรรมะ ถ้าใครเห็นธรรมะก็เห็นธรรมชาติ ถ้าผู้ใดเห็นธรรมชาติ เห็นธรรมะ ผู้นั้นก็เป็นผู้รู้จักธรรมะนั่นเอง ไม่ใช่อยู่ไกล

ฉะนั้น ถ้าเรามีสติ ความระลึกได้ มีสัมปชัญญะความรู้ตัวอยู่ทุกอิริยาบถ การยืน เดิน นั่ง นอน ผู้รู้ทั้งหลายก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นมา ให้รู้ ให้เห็นธรรมะตามเป็นจริงทุกกาลเวลา

พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านยังไม่ตาย แต่คนมักเข้าใจว่าท่านตายไปแล้ว นิพพานไปแล้ว ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นท่านไม่นิพพาน ท่านไม่ตาย ท่านยังอยู่ช่วยมนุษย์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่ทุกเวลา พระพุทธเจ้านั้นก็คือธรรมะนั่นเอง ใครทำดีต้องได้ดีอยู่วันหนึ่ง ใครทำชั่วมันก็ได้ชั่ว นี่เรียกว่าพระธรรม พระธรรมนั้นแหละเรียกว่าพระพุทธเจ้า และธรรมะนี่แหละที่ทำให้พระพุทธเจ้าของเราเป็นพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” แสดงว่า พระพุทธเจ้าก็คือพระธรรม และพระธรรมก็คือพระพุทธเจ้า ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น เป็นธรรมะที่มีอยู่ประจำโลก ไม่สูญหาย เหมือนกับน้ำที่มีอยู่ในพื้นแผ่นดิน ผู้ขุดบ่อลงไปให้ถึงน้ำก็จะเห็นน้ำ ไม่ใช่ว่าผู้นั้นไปแต่งไปทำให้น้ำมีขึ้น บุรุษนั้นลงกำลังขุดบ่อเท่านั้น ให้ลึกลงไปให้ถึงน้ำ น้ำก็มีอยู่แล้ว

อันนี้ฉันใดก็ฉันนั้น พระพุทธเจ้าของเราก็เหมือนกัน ท่านไม่ได้แต่ธรรมะ ท่านไม่ได้บัญญัติธรรมะ บัญญัติก็บัญญัติสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว ธรรมะคือความจริงที่มีอยู่แล้ว ท่านพิจารณาเห็นธรรมะ ท่านเข้าไปรู้ธรรมะ ท่านเข้าไปรู้ธรรม คือรู้ความจริงอันนั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่าพระพุทธเจ้าของเราท่านตรัสรู้ธรรมะ และการตรัสรู้ธรรมนี้เองจึงทำให้ท่านได้รับพระนามว่า พระพุทธเจ้า

เมื่อพระองค์ทรงอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ก็ทรงเป็นเพียง “เจ้าชายสิทธัตถะ” ต่อเมื่อตรัสรู้ธรรมแล้ว จึงได้ทรงเป็น “พระพุทธเจ้า” บุคคลทั้งหลายก็เหมือนกันผู้ใดสามารถตรัสรู้ธรรมได้ ผู้นั้นก็เป็นพุทธะ

ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงยังมีอยู่ ยังเมตตากรุณาสัตว์ทั้งหลาย ยังช่วยมนุษย์สัตว์ทั้งหลายอยู่ ถ้ามนุษย์ใดมีความประพฤติปฏิบัติดี จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ผู้นั้นก็จะมีคุณงามความดีอยู่ตลอดทุกวัน ฉะนั้นถ้าเรามีปัญญา ก็จะเห็นได้ว่า เราไม่ได้อยู่ห่างพระพุทธเจ้าเลย เดี๋ยวนี้ เราก็นั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้า เราเข้าใจธรรมะเมื่อใด เราก็เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น ผู้ใดตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน อยู่ณ ที่ใด ผู้นั้นย่อมได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา

ในการปฏิบัติธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่ในที่สงบ สำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต นี้เป็นหลักไว้ เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นที่ตรงนี้ ไม่เกิดที่อื่น ความดีทั้งหลายเกิดขึ้นที่นี่ ความชั่วทั้งหลายเกิดขึ้นที่นี่ พระพุทธเจ้าจึงให้สังวรสำรวมให้รู้จักเหตุที่มันเกิดขึ้น

ความจริง พระพุทธเจ้าท่านทรงบอก ทรงสอนไว้หมดทุกอย่างแล้ว เรื่องศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ตลอดจนข้อประพฤติปฏิบัติทุกประการ ก็ทรงพร่ำสอนไว้หมดทุกอย่าง เราไม่ต้องไปคิด ไปบัญญัติอะไรอีกแล้ว เพียงให้ทำตามในสิ่งที่ท่านทรงสอนไว้เท่านั้น นับว่าพวกเราเป็นผู้มีบุญ มีโชคอย่างยิ่งที่ได้มาพบหนทางที่ท่านทรงแนะนำ ทรงบอกไว้แล้ว คล้ายกับว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงสร้างสวนผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์พร้อมไว้ให้เรา แล้วก็เชิญให้พวกเราทั้งหลายไปกินผลไม้ในสวนนั้นโดยที่เราไม่ต้องออกแรงทำอะไรในสวนนั้นเลย เช่นเดียวกับคำสอนในทางธรรม ที่พระองค์ทรงสอนหมดแล้วยังขาดแต่บุคคลที่จะมีศรัทธาเข้าไปประพฤติปฏิบัติเท่านั้น

ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายจึงเป็นผู้ที่มีโชค มีบุญมาก เพราะเมื่อมองไปที่สัตว์ทั้งหลายแล้ว จะเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เช่น วัว ควาย หมู หมา เป็นต้น เป็นสัตว์ที่อาภัพมาก เพราะไม่มีโอกาสที่จะเรียนธรรม ไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติธรรม ไม่มีโอกาสที่จะรู้ธรรม ฉะนั้น ก็หมดโอกาสที่จะพ้นทุกข์ จึงเรียกว่าเป็นสัตว์ที่อาภัพ เป็นสัตว์ที่ต้องเสวยกรรมอยู่

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ทั้งหลายจึงไม่ควารทำตัวให้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ คือไม่มีข้อประพฤติ ไม่มีข้อปฏิบัติ อย่าให้เป็นคนอาภัพ คือ คนหมดหวังจากมรรค ผล นิพพาน หมดหวังจากคุณงามความดี อย่าไปคิดว่าเราหมดหวังเสียแล้ว ถ้าคิดอย่างนั้น จะเป็นคนอาภัพ เหมือนสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย คือไม่อยู่ในข่ายของพระพุทธเจ้า

ฉะนั้นเมื่อมนุษย์เป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีเช่นนี้แล้ว จึงควรที่จะปรับปรุงความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นของตนให้อยู่ในธรรม จะได้รู้ธรรม เห็นธรรม ในชาติกำเนิดที่เป็นมนุษย์นี้ ให้สมกับที่เกิดมาเป็นสัตว์ที่ควร บรรรลุธรรมได้

ถ้าหากเราคิดไม่ถูก ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ มันก็จะกลับไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นยักษ์ เป็นผี เป็นสารพัดอย่าง มันจะเป็นไปได้อย่างไร ก็ขอให้มองดูในจิตของเราเอง

เมื่อความโกรธเกิดขึ้น มันเป็นอย่างไร นั่นแหละ

เมื่อความหลงเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นอย่างไร นั่นแหละ

เมื่อความโลภเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นอย่างไร นั่นแหละ

สภาวะทั้งหลายเหล่านี้แหละ มันเป็นภพ แล้วก็เป็นชาติ เป็นความเกิดที่เป็นไปตามสภาวะแห่งจิตของตน