ARTICLES ON BUDDHISM

การฝึกใจ

ท่านเจ้าพระคุณพระโพธิญาณเถร
(พระอาจารย์ชา สุภัทโท)

ชีวิตคมในสมัยของท่านอาจารย์มั่นและท่านอาจารย์เสาร์นั้นสบายกว่าในสมัยนี้มาก ไม่มีความวุ่นวายมากเหมือนอย่างทุกวันนี้ สมัยโน้น พระไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับพิธีรีตองต่างๆ เหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ ท่านอาศัยอยู่ตามป่า ไม่ได้อยู่เป็นที่หรอก ธุดงค์ไปโน่น ธุดงค์ไปนี่เรื่อยไป ท่านใช้เวลาของท่านปฏิบัติภาวนาอย่างเต็มที่

สมัยโน้น พระท่านไม่ได้มีข้าวของฟุ่มเฟือยมากมายอย่างที่มีกันอยู่ทุกวันนี้หรอก เพราะมันยังไม่มีอะไรมากย่างเดี๋ยวนี้ด้วย กระบอกน้ำก็ทำเอา กระโถนก็ทำเอา ทำเอาจากไม้ไผ่นั่นแหละ

ชาวบ้านก็นานๆ จึงจะมาหาสักที ความจริงพระท่านก็ไม่ต้องการอะไร ท่านสันโดษกับสิ่งที่ท่านมีท่านก็อยู่ไปปฏิบัติภาวนาหายใจเป็นกรรมฐานอยู่นั่นแหละ

พระท่านก็ได้รับความลำบากอยู่เหมือนกัน ในการที่อยู่ตามป่า ตามเขา ถ้าองค์ใดเป็นไข้ป่า ไข้มาลาเรีย ไปถามหาขอยา อาจารย์ก็บอกว่า “ไม่ต้องฉันยาหรอก เร่งปฏิบัติภาวนาเข้าเถอะ”

ความจริงสมัยนั้นก็ไม่มีหยูกยามากมายอย่างสมัยนี้ มีแต่สมันไพรรากไม้ที่ขึ้นอยู่ตามป่า พระต้องอยู่อย่างอดอย่างทนเหลือหลาย ในสมัยนั้น เจ็บไข้เล็กๆ น้อยๆ ท่านก็ปล่อยมันไป เดี๋ยวนี้สิ เจ็บปวดอะไรนิดหน่อยก็วิ่งไปโรงพยาบาลแล้ว

บางทีก็ต้องเดินบิณฑบาตตั้งห้ากิโล พอฟ้าสางก็ต้องรีบออกจากวัดแล้ว กว่าจะกลับก็โน่น สิบโมง สิบเอ็ดโมงโน่นแล้ว แล้วก็ไม่ใช่บิณฑบาตได้อะไรมากมาย บางทีก็ได้ข้าวเหนียวสักก้อน ก้อนเกลือสักหน่อย พริกสักนิดเท่านั้นเอง

ได้อะไรมาฉันกับข้าวก็ช่าง ท่านไม่คิด เพราะมันเป็นอย่างนั้นเอง ไม่มีองค์ใดกล้าบ่นว่า “หิว” หรือ “เพลีย” ท่านไม่บ่น เฝ้าแต่ระมัดระวังตน

ท่านปฏิบัติอยู่ในป่าอย่างอดทน อัตรายก็มีรอบด้าน สัตว์ดุร้ายก็มีอยู่ในป่านั้น ความยากลำบากกาย ลำบากใจในการอยู่ธุดงค์ก็มีอยู่หลายแท้ๆ แต่ท่านก็มีความอดความทนเป็นเลิศ เพราะสิ่งแวดล้อมสมัยนั้นบังคับให้เป็นอย่างนั้น

มาสมัยนั้น สิ่งแวดล้อมบังคับเรา ไปในทางตรงข้ามกับสมัยโน้น ไปไหนเราก็เดินไป ต่อมาก็นั่งเกวียน แล้วนั่งรถยนต์ แต่ความทะยานอยากมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ใช่รถปรับอากาศก็จะไม่ยอมนั่ง ดูจะไปเอาไม่ได้เทียวแหละ ถ้ารถนั้นไม่ปรับอากาศ

คุณธรรมในเรื่องความอดทนมันค่อยอ่อนลงๆ การปฏิบัติภาวนาก็ย่อหย่อนลงไปมาก เดี๋ยวนี้ เราจึงเห็นนักปฏิบัติภาวนาชอบทำตามความเห็น ความต้องการของตัวเอง

เมื่อผู้เฒ่าผู้แก่พูดถึงเรื่องเก่าๆ แต่ครั้งก่อน คนเดี๋ยวนี้ฟังเหมือนว่าเป็นนิทาน นิยาย ฟังไปเฉยๆ แต่ไม่เข้าใจเลยแหละ เพราะมันเข้าไม่ถึง

พระภิกษุที่บวชในสมัยก่อนนั้นจะต้องอยู่กับพระอุปัชฌาย์อย่างน้อย ห้าปี นี่เป็นระเบียบที่ถือกันมา และต้องพยายามหลีกเลี่ยงการพูดคุย อย่าปล่อยตัวเที่ยวพูดคุยมากเกินไป อย่าอ่านหนังสือ แต่อ่าใจตัวเอง

ดูวัดหนองป่าพงเป็นตัวอย่าง ทุกวันนี้ มีพวกที่จบจากมหาวิทยาลัยมาบวชกันมาก ต้องคอยห้ามไม่ให้เอาเวลาไปอ่านหนังสือธรรมะ เพราะคนพวกนี้ชอบอ่านหนังสือ แล้วก็อ่านหนังสือมามาก แต่โอกาสที่จะอ่านใจของตัวเองน่ะหายากมาก ฉะนั้น ระหว่างที่มาบวชสามเดือนนี้ ก็ต้องขอให้ปิดหนังสือ ปิดตำรับตำราต่างๆ ให้หมด ในระหว่างที่บวชนี้น่ะ เป็นโอกาสวิเศษแล้วที่จะได้อ่านใจของตัวเอง

การตามดูใจของตัวเองนี่ น่าสนใจมาก ใจที่ยังไม่ได้ฝึก มันก็คอยวิ่งไปตามนิสัยเคยชินที่ยังไม่ได้ฝึกไม่ได้อบรม มันเต้นคึกคักไปตามเรื่องตามราวตามความคะนอง เพราะมันยังไม่เคยถูกฝึก ดังนั้นจงฝึกใจของตัวเอง

การปฏิบัติภาวนาในทางพุทธศาสนา ก็คือการปฏิบัติเรื่องใจ ฝึกจิตใจของตัว ฝึกอบรมณ์จิตของตัวเองนี่แหละ เรื่องนี้สำคัญมาก

การฝึกใจเป็นหลักสำคัญ พุทธศาสนาเป็นศาสนาของใจ มันมีเท่านี้ ผู้ที่ฝึกปฏิบัติทางจิตคือผู้ปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนา

ใจของเรานี่มันอยู่ในกรง ยิ่งกว่านั้น มันยังมีเสือที่กำลังอาละวาดอยู่ในกรงนั้นด้วย ใจที่มันเอาแต่ใจของเรานี้ ถ้าหากมันไม่ได้อะไรตามที่มันต้องการแล้ว มันก็อาละวาด เราจะต้องอบรมใจด้วยการภาวนา ด้วยสมาธินี่แหละที่เราเรียกว่า “การฝึกใจ”

ในเบื้องต้นของการฝึกปฏิบัติธรรม จะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานหรือรากฐาน ศีลนี้เป็นสิ่งอบรมกาย วาจา ซึ่งบางทีก็จะเกิดการวุ่นวายขึ้นในใจเหมือนกัน เมื่อเราพยายามจะบังคับใจไม่ให้ทำตามความอยาก

กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย นิสัยความเคยชินอย่างโลกๆลดมันน้อยลง อย่ายอมตามความอยาก อย่ายอมตามความคิดของตน หยุดเป็นทาสมันเสีย พยายามต่อสู้เอาชนะอวิชชาให้ได้ ด้วยการบังคับตัวเองเสมอ นี่เรียกว่า “ศีล”

เมื่อพยายามบังคับจิตของตัวเองนั้น จิตมันก็จะดิ้นรนต่อสู้ มันจะรู้สึกถูกจำกัด ถูกข่มขี่ เมื่อมันไม่ได้ทำตามที่มันอยาก มันก็จะกระวนกระวายดิ้นรน ทีนี้เห็นทุกข์ชัดละ

“ทุกข์” เป็นข้อแรกของอริยสัจสี่ คนทั้งหลายพากันเกลียดกลัวทุกข์ อยากหนีทุกข์ ไม่อยากให้มีทุกข์เลย ความจริง ทุกข์นี่แหละจะทำให้เราฉลาดขึ้นล่ะ ทำให้เกิดปัญญา ทำให้เรารู้จักพิจารณาทุกข์

สุขนั่นซิ มันจะปิดหูปิดตาเรา มันจะทำให้ไม่รู้จักอดไม่รู้จักทน ความสุขสบายทั้งหลายจะทำให้เราประมาท

กิเลสสองตัวนี้ ทุกข์เห็นได้ง่าย ดังนั้น เราจึงต้องเอาทุกข์มาพิจารณา แล้วพยายามทำความดับทุกข์ให้ได้ แต่ก่อนที่จะปฏิบัติภาวนา ก็ต้องรู้จักเสียก่อนว่า ทุกข์คืออะไร

ตอนแรก เราจะต้องฝึกใจของเราอย่างนี้ เราอาจยังไม่เข้าใจว่า มันเป็นอย่างไร ทำไป ทำไปก่อน ฉะนั้น เมื่อครูอาจารย์บอกให้ทำอย่างใด ก็ทำตามไปก่อน แล้วก็จะค่อยมีความอดทนอดกลั้นขึ้นเอง

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ให้อดทนอดกลั้นไว้ก่อนเพราะมันเป็นอย่างนั้นเอง อย่างเช่นเมื่อฝึกนั่งสมาธิ เราก็ต้องการความสงบทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ความสงบ เพราะมันยังไม่เคยทำสมาธิมาก่อน ใจก็บอกว่า “จะต้องนั่งอย่างนี้แหละ จนกว่าจะได้ความสงบ”

แต่พอความสงบไม่เกิด ก็เป็นทุกข์ ก็เลยลุกขึ้น วิ่งหนีเลย การปฏิบัติอย่างนี้ไม่เป็น “การพัฒนาจิต” แต่มันเป็นการ “ทอดทิ้งจิต”

ไม่ควรจะปล่อยใจไปตามอารมณ์ ควรที่จะฝึกฝนอบรมตนเองตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ขี้เกียจก็ช่าง ขยันก็ช่าง ให้ปฏิบัติมันไปเรื่อยๆ ลองคิดดูซิ ทำอย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ การปล่อยใจตามอารมณ์นั้น จะไม่มีวันถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า

เมื่อเราปฏิบัติธรรม ไม่ว่าอารมณ์ใดจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน แต่ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอ การตามใจตัวเองไม่ใช่แนวทางของพระพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติธรรม ตามความคิดความเห็นของตัวเอง เราจะไม่มีวันรู้แจ้งว่าอันใดผิด อันใดถูก จะไม่มีวันรู้จักใจของตัวเอง และไม่มีวันรู้จักตัวเอง

ดังนั้น ถ้าปฏิบัติธรรมตามแนวของตนเองแล้ว ย่อมเป็นการเสียเวลาที่สุด แต่การปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมเป็นหนทางตรงที่สุด

ของให้จำไว้ว่า ถึงจะขี้เกียจ ก็ให้พยายามปฏิบัติไปทุกเวลาและทุกหนทุกแห่ง นี่จึงจะเรียกว่า “การพัฒนาจิต”

ถ้าหากกราปฏิบัติตามความคิดความเห็นของตนแล้ว ก็จะเกิดความคิดไป ความสงสัยไปมากมาย มันจะพาให้คิดไปว่า “เราไม่มีบุญ เราไม่มีวาสนา ปฏิบัติธรรมก็นานหนักหนาแล้ว ยังไม่รู้ ยังไม่เห็นธรรมเลยสักที”

การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ ไม่เรียกว่าเป็น “การพัฒนาจิต” แต่เป็น “การพัฒนาความหายนะของจิต”

ถ้าเมื่อใดที่ปฏิบัติธรรมไป แล้วมีความรู้สึก อย่างนี้ว่า ยังไม่รู้อะไร ยังไม่เห็นอะไร ยังไม่มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้างเลย นี่ก็เพราะที่ปฏิบัติมามันผิด ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย” ความสงสัยจะไม่มีวันสิ้นไปได้ด้วยการคิด ด้วยทฤษฎี ด้วยการคาดคะเน หรือด้วยการถกเถียงกัน หรือจะอยู่เฉยๆ ไม่ปฏิบัติภาวนาเลย ความสงสัยก็จะหายไปไม่ได้เหมือนกัน กิเลสจะสิ้นหายไปได้ด้วยการพัฒนาทางจิต ซึ่งจะเกิดได้ ก็ด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น

การปฏิบัติทางจิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น ตรงกันข้ามกับหนทางของโลกอย่างสิ้นเชิง คำสั่งสอนของพระองค์มาจากพระทัยอันบริสุทธิ์ ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับกิเลสอาสวะทั้งหลาย นี่คือแนวทางของพระพุทธเจ้าและสาวกของพระองค์

เมื่อเราปฏิบัติธรรม เราต้องทำใจของเราให้เป็นธรรม ไม่ใช่เอาธรรมะมาตามใจเรา ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ ทุกข์ก็จะเกิดขึ้น แต่ไม่มีใครสักคนหรอกที่จะพ้นทุกข์ไปได้ พอเริ่มปฏิบัติ ทุกข์ก็อยู่ตรงนั้นแล้ว

หน้าที่ของผู้ปฏิบัตินั้น จะต้องมีสติ สำรวม และสันโดษ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราหยุด คือเลิกนิสัยความเคยชินที่เคยทำมาแต่เก่าก่อน ทำไม่ถึงต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ไม่ฝึกฝนอบรมใจตนเองแล้ว มันก็จะคึกคะนองวุ่นวายไปตามธรรมชาติของมัน

ธรรมชาติของใจนี้มันฝึกกันได้ เอามาใช้ประโยชน์ได้ เปรียบได้กับต้นไม้ป่า ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติของมัน เราก็จะเอามันมาสร้างบ้านไม่ได้ จะเอามาทำแผ่นกระดานก็ไม่ได้ หรือทำอะไรอย่างอื่นที่จะใช้สร้างบ้านก็ไม่ได้

แต่ถ้าช่างไม้ผ่านมา ต้องการไม้ไปสร้างบ้าน เขาจะมองหาต้นไม้ในป่านี้ และตัดต้นไม้ในป่านี้เอาไปใช้ประโยชน์ ไม่ช้าเขาก็สร้างบ้านเสร็จเรียบร้อย

การปฏิบัติภาวนาและพัฒนาจิตก็คล้ายกันอย่างนี้ ก็ต้องเอาใจที่ยังไม่ได้ฝึก เหมือนไม้ป่านี่แหละ มาฝึกมันจนมันละเอียดประณีตขึ้น รู้ขึ้น และว่องไวขึ้น

ทุกอย่างมันเป็นไปตามภาวะธรรมชาติของมัน เมื่อเรารู้จักธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ เราก็เปลี่ยนมันได้ ทิ้งมันก็ได้ ปล่อยมันไปก็ได้ แล้วเราก็ไม่ทุกข์อีกต่อไป

ธรรมชาติของใจเรามันก็อย่างนั้น เมื่อใดที่เกาะเกี่ยวผูกพัน ยึดมั่นถือมั่น ก็จะเกิดความวุ่นวายสับสน เดี๋ยวมันก็วิ่งวุ่นไปโน่นไปนี่ พอมันวุ่นวายสับสนมากๆ เข้าเราก็คิดว่า คงจะฝึกอารมณ์มันไม่ได้แล้ว แล้วก็เป็นทุกข์ นี่ก็เพราะไม่เข้าใจว่า มันต้องเป็นของมันอย่างนั้นเอง

ความคิด ความรู้สึก มันจะวิ่งไปวิ่งมาอยู่อย่างนี้ แม้เราจะพยายามฝึกปฏิบัติ พยายามให้มันสงบ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น

เมื่อเราติดตามพิจารณาดูธรรมชาติของใจอยู่บ่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจว่าธรรมชาติของใจมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้

ถ้าเราเห็นอันนี้ชัด เราก็จะทิ้งความคิดความรู้สึกอย่านั้นได้ ทีนี้ก็ไม่ต้องคิดนั่นคิดนี่อีก คอยแต่บอกตัวเองไว้อย่างเดียวว่า “มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง” พอเข้าใจได้ชัด เห็นแจ้งอย่างนี้แล้ว ทีนี้ก็จะปล่อยอะไรๆ ได้ทั้งหมด ก็ไม่ใช่ว่าความคิดความรู้สึกมันจะหายไป มันก็ยังอยู่นั่นแหละ แต่มันหมดอำนาจเสียแล้ว

เปรียบก็เหมือนกับเด็กที่ชอบซน เล่นสนุก ทำให้รำคาญ จนเราต้องดุเอา ตีเอา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า ธรรมชาติของเด็กก็เป็นอย่างนั้นเอง พอรู้อย่างนี้ เราก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปตามเรื่องของเขา ความเดือดร้อนรำคาญของเราก็หมดไป

มันหมดไปได้อย่างไร ก็เพราะเรายอมรับธรรมชาติของเด็ก ความรู้สึกของเราเปลี่ยน และเรายอมรับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เราปล่อยวาง จิตของเราก็มีความสงบเยือกเย็น นี่เรามีความเข้าใจอันถูกต้องแล้ว เป็นสัมมาทิฐิ

ถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ยังเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ แม้จะไปอยู่ในถ้ำลึกมืดสักเท่าใด ใจมันก็ยังยุ่งเหยิงอยู่ หรือจะไปอยู่บนอากาศสูงปานใด มันก็ยังยุ่งเหยิงวุ่นวายอยู่ ใจจะสงบได้ก็ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฐิเท่านั้น ที่นี้ก็หมดปัญหาจะต้องแก้ เพราะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น

นี่มันเป็นอย่างนี้ เราไม่ชอบมัน เราปล่อยวางมัน เมื่อใดที่มีความรู้สึกเกาะเกี่ยวยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้น เราปล่อยวางทันที เพราะรู้แล้วว่า ความรู้สึกอย่างนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อจะกวนเรา แม้บางทีเราอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ความเป็นจริง ความรู้สึกนั้นเป็นของมันอย่างนั้นเอง

ถ้าเราปล่อยวางมันเสีย รูปก็เป็นสักแต่ว่ารูป เสียงก็สักแต่ว่าเสียง กลิ่นก็สักแต่ว่ากลิ่น รสก็สักแต่ว่ารส โผฏฐัพพะก็สักแต่ว่าโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็สักแต่ว่าธรรมารมณ์ เปรียบเหมือนน้ำมันกับน้ำท่า ถ้าเราเอาทั้งสองอย่างนี้เทใส่ขวดเดียวกัน มันไม่ปนกัน เพราะธรรมชาติมันต่างกัน

น้ำมันกับน้ำท่ามันต่างกัน เหมื่อนกับที่คนฉลาดก็ต่างกับคนโง่ พระพุทธเจ้าก็ทรงอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แต่พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ พระองค์จึงทรงเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเพียง “สักว่า” เท่านั้น

พระองค์ทรงปล่อยวางมันไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ทรงเข้าพระทัยแล้วว่า ใจก็สักว่าใจ ความคิดก็สักว่าความคิด พระองค์ไม่ทรงเอามันมาปนกัน

ใจก็สักว่าใจ ความคิดความรู้สึกก็สักว่าความคิดความรู้สึก ปล่อยให้มันเป็นเพียงสิ่ง “สักว่า” รูปก็สักว่ารูป เสียงก็สักว่าเสียง ความคิดก็สักว่าความคิด จะต้องไปยึดมั่นถือมั่นทำไม

ถ้าคิดได้ รู้สึกได้ดังนี้ เราก็จะแยกมันได้ ความคิด ความรู้สึก(อารมณ์) อยู่ทางหนึ่ง ใจก็อยู่อีกทางหนึ่ง เหมือนกับน้ำมันกับน้ำท่า อยู่ในขวดเดียวกัน แต่มันแยกกันอยู่

พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกของพระองค์ก็อยู่ร่วมกับปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่ได้รู้ธรรม ท่านไม่ได้เพียงอยู่ร่วมเท่านั้น แต่ท่านยังสอนคนเหล่านั้น ทั้งคนฉลาด คนโง่ ให้รู้จักวิธีที่จะศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และรู้แจ้งในธรรม ท่านสอนได้ เพราะท่านได้ปฏิบัติมาเอง ท่านรู้ว่ามันเป็นเรื่องของใจเท่านั้น เหมือนอย่างที่ได้พูดมานี่แหละ

ดังนั้น การปฏิบัติภาวนานี้ อย่าไปสงสัยมันเลย เราหนีจากบ้านมาบวช ไม่ใช่เพื่อหนีมาอยู่กับความหลง หรืออยู่กับความหวาดกลัว แต่หนีมาเพื่อฝึกอบรมตัวเอง เพื่อเป็นนายตัวเอง ชนะตัวเอง ถ้าเราเข้าใจได้อย่างนี้ เราก็ปฏิบัติธรรมได้ ธรรมะจะแจ่มแจ้งขึ้นในใจของเรา

ผู้ที่เข้าใจธรรมะก็เข้าใจตัวเอง ใครเข้าใจตัวเองก็เข้าใจธรรมะ ทุกวันนี้ก็เหลือแต่เปลือกของธรรมะเท่านั้น ความเป็นจริงแล้ว ธรรมะมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่จำเป็นที่จะต้องหนีไปไหน ถ้าหนีก็ให้หนีด้วยความฉลาด หนีด้วยความชำนิชำนาน อย่าหนีด้วยความโง่ ถ้าเราต้องการความสงบ ก็ให้สงบด้วยความฉลาด ด้วยปัญญาเท่านั้นก็พอ

เมื่อใดที่เราเห็นธรรมะ นั่นก็เป็นสัมมาปฏิทาแล้ว กิเลสก็สักแต่ว่ากิเลส ใจก็สักแต่ว่าใจ เมื่อใดที่เราทิ้งได้ ปล่อยวางได้ แยกได้ เมื่อนั้น มันก็เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นเพียงอย่างนี้อย่างนั้นสำหรับเราเท่านั้นเอง เมื่อเราเห็นถูกแล้ว ก็จะมีแต่ความปลอดโปร่ง ความเป็นอิสระตลอดเวลา

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านอย่ายึดมั่นในธรรม” ธรรมะคืออะไร คือทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ ความรัก ความเกลียดก็เป็นธรรมะ ความสุขความทุกข์ก็เป็นธรรมะ ความชอบความไม่ชอบก็เป็นธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อยแค่ไหนก็เป็นธรรมะ

เมื่อเราปฏิบัติธรรม เราเข้าใจอันนี้ เราก็ปล่อยวางได้ ดังนั้น ก็ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่นในสิ่งใด

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในใจเรา ในจิตเรา ในร่างกายของเรา มีแต่ความแปรเปลี่ยนไปทั้งนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น พระองค์ทรงสอนพระสาวกของพระองค์ให้ปฏิบัติเพื่อละ เพื่อถอน ไม่ให้ปฏิบัติเพื่อสะสม

ถ้าเราทำตามคำสอนของพระองค์ เราก็ถูกเท่านั้นแหละ เราอยู่ในทางที่ถูกแล้ว แต่บางทีก็ยังมีความวุ่นวายเหมือนกัน ไม่ใช่คำสอนของพระองค์ทำให้วุ่นวาย กิเลสของเราเองนั่นแหละที่มันทำให้วุ่นวาย มันมาบังคับความเข้าใจอันถูกต้องเสียก็เลยทำให้เราวุ่นวาย

ความจริงการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีอะไรลำบาก ไม่มีอะไรยุ่งยาก การปฏิบัติตามทางของพระองค์ไม่มีทุกข์ เพราะทางของพระองค์คือ “ปล่อยวาง” ให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง

จุดมุ่งหมายสูงสุดของการปฏิบัติภาวนานั้น ท่านทรงสอนให้ “ปล่อยวาง” อย่าแบกถืออะไรให้มันหนัก ทิ้งมันเสีย ความดีก็ทิ้ง ความถูกต้องก็ทิ้ง

คำว่า “ทิ้ง” หรือ “ปล่อยวาง” ไม่ใช่ไม่ต้องปฏิบัติ แต่หมายความว่าให้ปฏิบัติ “การละ” “การปล่อยวาง”นั่นแหละ

พระองค์ทรงสอนให้พิจารณาธรรมทั้งหลายที่กาย ที่ใจของเรา ธรรมะไม่ได้อยู่ไกลที่ไหน อยู่ตรงนี้เอง ที่กาย ที่ใจของเรานี่แหละ

ดังนั้น นักปฏิบัติต้องปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง เอาจริงเอาจัง ให้ใจมันผ่องใสขึ้น สว่างขึ้น ให้มันเป็นใจอิสระ

ทำความดีอะไรไว้แล้ว ก็ปล่อยมันไป อย่าไปยึดไว้ หรืองดเว้นการทำชั่วได้แล้ว ก็ปล่อยมันไป พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่กับปัจจุบันนี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่อยู่กับอดีต หรืออนาคต

คำสอนที่เข้าใจผิดกันมาก แล้วก็ถกเถียงกันมากที่สุด ตามความคิดของตนก็คือ “การปล่อยวาง” หรือ “การทำงานด้วยจิตว่าง”นี่แหละ การพูดอย่างนี้เรียกว่าพูดภาษาธรรม เมื่อเอามาคิดเป็นภาษาโลก มันก็เลยยุ่ง แล้วก็ตีความหมายว่า ถ้าอย่างนั้นทำอะไรก็ได้ตามใจชอบละซิ

ความจริงมันหมายความอย่างนี้ อุปมาเหมือนว่าเรา แบกก้อนหินหนักอยู่ก้อนหนึ่ง แบกไปก็รู้สึกหนัก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน ก็ได้แต่แบกอยู่อย่างนั้น พอมีใครบอกว่า ให้โยนมันทิ้งเสียซิ ก็มาคิดอีกแหละว่า “เอ ถ้าเราโยนทิ้งมันไปแล้ว เราก็ไม่มีอะไรเหลือน่ะซิ” ก็เลยแบกแบกอยู่นั่นแหละ ไม่ยอมทิ้ง ถึงใครบอกว่า โยนทิ้งไปเถอะ แล้วจะดีอย่างนั้น เป็นประโยชน์อย่างนี้ เราก็ยังไม่ยอมโยนทิ้งอยู่นั่นแหละ เพราะกลัวแต่ว่าจะไม่มีอะไรเหลือ ก็เลยแบกก้อนหินหนักไว้ จนเหนื่อยอ่อนเพลียเต็มที จนแบกไม่ไหวแล้ว ก็เลยปล่อยมันตกลง

ตอนที่ปล่อยมันตกลงนี่แหละ ก็จะเกิดความรู้เรื่อง “การปล่อยวาง” ขึ้นมาเลย เราจะรู้สึกเบาสบาย แล้วก็รู้ได้ด้วยตัวเองว่า การแบกก้อนหินนั้นมันหนักเพียงใด แต่ตอนที่เราแบกอยู่นั้น เราไม่รู้หรอกว่า “การปล่อยวาง” มันมีประโยชน์เพียงใด

ดังนั้น ถ้ามีใครมาบอกให้ปล่อยวาง คนที่ยังมืดอยู่ก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจหรอก ก็จะหลับหู หลับตาแบกก้อนหินนั้น อย่างไม่ยอมปล่อย จนกระทั่ง มันหนักจนเหลือที่จะทนนั่นแหละ ถึงจะยอมปล่อย แล้วก็จะรู้สึกได้ด้วยตัวเองว่ามันเบา มันสบายแค่ไหน ที่ปล่อยมันไปได้

ต่อมาเราอาจจะไปแบกอะไรอีกก็ได้ แต่ตอนนี้เราพอรู้แล้วว่า ผลของการแบกนั้นเป็นอย่างไร เราก็จะปล่อยวางมันได้โดยง่ายขึ้น ความเข้าใจในความไร้ประโยชน์ของการแบกหาม และความเบาสบายของการปล่อยวางนี่แหละคือตัวอย่างที่แสดงถึงการรู้จักตัวเอง

ความยึดมั่นถือมั่นในตัวของเรา ก็เหมือนก้อนหินหนักก้อนนั้น พอคิดว่าจะปล่อย “ตัวเรา” ก็เกิดความกลัวว่า ปล่อยไปแล้ว ก็จะไม่มีอะไรเหลือ เหมือนกับที่ไม่ยอมปล่อยก้อนหินก้อนนั้น แต่ในที่สุด เมื่อปล่อยมันไปได้เราก็จะรู้สึกเอาถึงความเบาสบายในการที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น

ในการฝึกใจนี้ เราต้องไม่ยึดมั่นถึงสรรเสริญ ทั้งนินทา ความต้องการแต่สรรเสริญและไม่ต้องการนินทานั้น เป็นวิถีทางของโลก แต่แนวทางของพระพุทธเจ้านั้น ให้รับสรรเสริญตามเหตุตามปัจจัยของมัน และก็ให้รับนินทาตามเหตุตามปัจจัยของมันเหมือนกัน เหมือนกับการเลี้ยงเด็ก บางทีเราไม่ดุเด็ก ตลอดเวลา มันก็ดีเหมือนกัน ผู้ใหญ่บางคนดุมากเกินไป ผู้ใหญ่ที่ฉลาดย่อมรู้จักว่าเมื่อใดควรดุ เมื่อใดควรชม

ใจของเราก็เหมือนกัน ใช้ปัญญาเรียนรู้จักใจ ใช้ความฉลาดรักษาใจไว้ แล้วเราก็จะเป็นคนฉลาดที่รู้จักฝึกใจ เมื่อฝึกบ่อยๆ มันก็สามารถกำจัดทุกข์ได้ ความทุกข์เกิดขึ้นที่ใจนี่เอง มันทำให้ใจสับสน มืดมัว มันเกิดขึ้นที่นี่ มันก็ตายที่นี่

เรื่องของใจมันเป็นอย่างนี้ บางทีก็คิดดี บางทีก็คิดชั่ว ใจมันหลอกลวง เป็นมายา จงอย่าไว้ใจมัน แต่จงมองเข้าไปที่ใจ มองให้เห็นความเป็นอยู่อย่างนั้นของมัน ยอมรับมันทั้งนั้น ทั้งใจดีใจชั่ว เพราะมันเป็นของมันอย่างนั้น ถ้าเราไม่ไปยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นของมันอยู่แค่นั้น แต่ถ้าเราไปยึดมั่นเข้า เราก็จะถูกมันกัดเอา แล้วเราก็เป็นทุกข์ ถ้าใจเป็นสมาธิแล้ว ก็จะมีแต่ความสงบ จะเป็นสมาธิ จะมีความฉลาด ไม่ว่าจะนั่งหรือจะนอน ก็จะมีแต่ความสงบ ไม่ว่าจะไปไหน ทำอะไร ก็จะมีแต่ความสงบ

วันนี้ ท่าน(ภิกษุชาวตะวันตก) ได้พาลูกศิษย์มาฟังธรรม ท่านอาจจะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ผม(พระอาจารย์ชา) ได้พูดเรื่องการปฏิบัติ เพื่อให้ท่านเข้าใจได้ง่าย ท่านจะคิดว่า ถูกหรือไม่ก็ตาม ก็ขอให้ท่านลองนำไปพิจารณาดู ผมในฐานะอาจารย์องค์หนึ่ง ก็อยู่ในฐานะคล้ายๆกัน ผมเองก็อยากฟังธรรมเหมือนกัน เพราะไม่ว่าผมจะไปที่ไหน ก็ต้องไปแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง แต่ตัวเองไม่ได้มีโอกาสฟังเลย คราวนี้ก็ดูท่านพอใจในการฟังธรรมอยู่ เวลาผ่านไปโดยเร็ว เมื่อท่านนั่งฟังอย่างเงียบๆ เพราะท่านกำลังกระหายธรรมะ ท่านจึงต้องการฟัง

เมื่อก่อนนี้ การแสดงธรรมก็เป็นการเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง แต่ต่อมา ความเพลิดเพลินก็ค่อยหายไป รู้สึกเหนื่อยและเบื่อ ก็กลับอยากเป็นผู้ฟังบ้าง เพราะเมื่อฟังธรรมจากครูอาจารย์นั้น มันเข้าใจและมีกำลังใจ มันเข้าใจง่ายและมีกำลังใจ แต่เมื่อเราแก่ขึ้น มีความหิงกระหายในธรรมะ รสชาติของมันก็ยิ่งเอร็ดอร่อยมากขึ้น

การเป็นครูอาจารย์ของผู้อื่นนั้น จะต้องเป็นตัวอย่างแก่พระภิกษุอื่นๆ เป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์ เป็นตัวอย่างแก่ทุกคน ฉะนั้นอย่าลืมตนเอง ถ้าความคิดอย่างนั้นเกิดขึ้น รีบกำจัดมันเสีย ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะเป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง

วิธีปฏิบัติธรรมมีมากมาย พูดเรื่องภาวนาไม่มีที่จบ สิ่งที่จะทำให้เกิดความสงสัย มีมากมายหลายอย่าง แต่ให้กวาดมันออกไปเรื่อยๆ แล้วจะไม่เหลือความสงสัย เมื่อเรามีความเข้าใจถูกต้องเช่นนี้ ไม่ว่าจะนั่งหรือจะเดิน ก็จะมีแต่ความสงบ ความสบาย ไม่ว่าจะปฏิบัติภาวนาที่ไหน ให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม อย่าถือว่า จะปฏิบัติภาวนาแต่เฉพาะขณะนั่ง หรือเดินเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกหนทุกแห่งเป็นการปฏิบัติได้ทั้งนั้น

ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ให้มีสติอยู่ ให้เห็นการเกิดดับของกายและใจ แต่อย่าให้มันมาทำใจให้วุ่นวาย ให้ปล่อยมันไป ความรักเกิดขึ้น ก็ปล่อยมันไป มันมาจากไหน ก็ให้มันกลับไปที่นั่น ความโลภเกิดขึ้นก็ปล่อยมันไป ตามดูว่ามันอยู่ที่ไหน แล้วตามไปส่งมันให้ถึงที่ อย่าเก็บมันไว้สักอย่าง

ถ้าท่านปฏิบัติได้อย่างนี้ ท่านก็จะเหมือนกับบ้านว่าง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นี่คือใจว่าง เป็นใจที่ว่างและอิสระจากกิเลสความชั่วทั้งหลาย เราเรียกว่า “ใจว่าง” ไม่ใช่ว่างเหมือนว่าไม่มีอะไร มันว่างจากกิเลส แต่เต็มไปด้วยความฉลาด ด้วยปัญญา ฉะนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ทำด้วยปัญญา คิดด้วยปัญญา จะมีแต่ปัญญาเท่านั้น

นี่เป็นคำสอนของผมมอบให้ในวันนี้ ถ้าการฟังธรรมทำให้ใจท่านสงบ ก็ดีแล้ว ไม่จำต้องจดจำอะไร บางท่านอาจจะไม่เชื่อ ถ้าเราทำใจให้สงบ ฟังแล้วก็ไม่ให้ผ่านไป แต่นำมาพิจารณาอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้เราก็เหมือนเครื่องบันทึกเสียง เมื่อเรา “เปิด”มัน มันก็อยู่ตรงนั้น อย่ากลัวว่าจะไม่มีอะไร เมื่อใดที่ท่านเปิดเครื่องบันทึกเสียงของท่านทุกอย่างก็อยู่ในนั้น

ขอมอบธรรมะนี้ต่อพระภิกษุทุกรูป และต่อทุกคน บางท่านอาจจะรู้ภาษาไทยเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่เป็นไร ให้ท่านเรียนภาษาธรรมเถิด เท่านี้ก็ดีเพียงพอแล้ว